Sunday, June 30, 2013

รองเท้าวิ่งคู่ใหม่ ... Asics Gel-Kayano 19

หลังจากอาการบาดเจ็บครั้งที่ 2 (ดู การบาดเจ็บ ... จากการวิ่ง) และคุณหมอแนะนำว่า รองเท้ามีผลมากๆ กับการรับแรงกระแทก และช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บในระยะยาว มันเลยเป็นเรื่อง (หาเรื่อง) ให้มองหารองเท้าวิ่งดีๆ อีกสักคู่




ลองหาข้อมูลจากหลายๆ เว็บไซท์ที่เกี่ยวกับการวิ่ง รวมทั้งกระทู้ต่างๆ ในพันธุ์ทิพย์ พบว่านักวิ่งให้เครดิตกับรองเท้าวิ่ง Asics, New Balance, และ Mizuno ที่เค้าออกแบบมาเพื่อการวิ่ง ดีกว่ายี่ห้อดังอีก 2 ยี่ห้อคือ Adidas และ Nike (ที่ผมใช้วิ่งมาตั้งแต่แรก) แต่จริงๆ คงจะฟันธงไม่ได้หรอกว่า รองเท้ืาที่ราคาสูงจากผู้ผลิตสามรายแรกที่ว่าจะดีกว่าอีกสองยี่ห้อ เพราะรูปเท้าของคนเราต่างกัน การรองรับฝ่าเท้าหรือห่อหุ้มก็ต้องต่างกัน (ดู รองเท้า ... กับการวิ่ง) และก็มีหลายคนที่ใช้รองเท้าสองยี่ห้อหลังมาตลอด โดยไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับข้อเท้า เข่า หรือสะโพกเหมือนกัน

Asics Gel-Kayano 19 (Mid 2013 version)

Asics Gel-Kayano 19 (size 12) คู่นี้ เป็นรุ่นใหม่สำหรับกลางปี 2013 ซึ่งจะว่าไปแล้วลวดลายการออกแบบสี หรือวัสดุ ผมชอบของ Nike มากกว่าเยอะ (ผมชอบโลโก้ของ Nike มาตั้งแต่สมัยเรียน ม.4 ตอนนั้นยังมีคำว่า Nike อยู่เหนือตราเครื่องหมายคล้ายขีดถูก ชอบขนาดเอามาเพ้นท์เสื้อยืดเล่นเลย) แต่ในขณะที่ Asics ลายนี้ เป็นสีใหม่แบบที่ 4 ของ Series 19 ต่อจากสีฟ้าเหลือง ขาวฟ้า และดำ (สีดำคนก็ใช้กัน เพราะหลายคนใส่ทำงานด้วย) ตอนแรกอยากได้สีฟ้าเหลือง อยากได้สีเจ็บๆ จริงๆ อยากได้สีแดงหรือส้มด้วยซ้ำไป แต่คนขายแนะนำว่า สีนี้ใกล้จะเลิกผลิตแล้ว ดังนั้นรองเท้าที่มีในร้านหรือแผนกรองเท้า ก็น่าจะมีอายุเก็บ (Shelf Life) พอสมควร 




อย่างที่ได้เขียนไปแล้ว ว่าจะซื้อรองเท้าต้องไปลองให้มั่นใจ ผมไปลองรองเท้า Asics รุ่น Gel-Kayano 19 และรุ่นใกล้เคียง (Gel Nimbus 14) และรุ่นท๊อป (Gel Kinsei 4) สิ่งที่รู้สึกได้ทันทีเมื่อเทียบกับ Nike Structure 15 ที่ใช้อยู่คือ ความนิ่มตอนลองเดินไปมาในร้าน รวมทั้งน้ำหนักที่เบาใส่สบายกว่ากันมาก แน่นอนราคาต่างกันหลายเท่าตัว ย่อมต้องมีความต่างกัน ไม่งั้นคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหารองเท้ามาเพิ่ม

Asics ทั้งสามรุ่น มีเจลรองรับที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า และช่วงปลายเท้า แตกต่างกัน รุ่น Gel Kinsei 4 มีเจลหนามากที่ปุ่มส้นรองเท้า เป็นรุ่นที่รองรับการวิ่งแบบลงส้นได้ดีที่สุด ในขณะที่ Gel Kayano 19 มีเจลที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า และไล่ไปจนถึงปลายเท้า รองรับการวิ่งได้ดีมากเช่นกัน ส่วน Gel Nimbus 14 จะมีเจลที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า และปลายเท้าแต่เท่าที่เห็นคือ จำนวนจะน้อยกว่า (ราคาก็ลดหลั่นกันลงมา)

ทำไมต้องเป็นเจล? 

คงจะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรองเท้าแต่ละรายมุ่งเน้น และค้นคว้าพัฒนา ที่จะไม่พยายามทำอะไรตามกัน เพื่อสร้างจุดขาย และกำหนดโครงสร้างราคา Asics มีเจลรองรับ ในขณะที่ Nike มีเบาะอากาศรองรับ และในส่วน Adidas เน้นไปที่วัสดุศาสตร์ โดยใช้พื้นที่เป็นลักษณะโฟมที่ดูดซับและส่งแรงสะท้อนกลับได้ ผมมองว่าทั้งสามเทคโนโลยีที่ว่า ของ Nike น่าจะเปราะบางที่สุดหากเจออะไรคมๆ บาดเข้าไปในเบาะอากาศ (ยกเว้นจะวิ่งบนลู่สายพานในยิม) แต่ถ้าจะถามว่าแบบไหนดีที่สุด อันนี้ตอบไม่ได้เหมือนกัน คงต้องไปดูในเว็บต่างประเทศ หรือบล็อกของนักวิ่งที่มากประสบการณ์ ใช้รองเท้ามาแล้วหลายๆ คู่

ทดสอบภาคสนาม

จะช้าอยู่ใย? ได้รองเท้ามาก็ต้องฉลองกันหน่อย เช้าวันนี้ (30 มิถุนายน 2556) ไม่มีรายการวิ่งในกรุงเทพฯ ที่หมายผมเลยเป็นสวนลุมพินี ที่นักวิ่งในกรุงเทพฯ คุ้นเคยกันมากที่สุดนั่นเอง



กะไว้คร่าวๆ ว่าจะวิ่งสัก 15 กม. หรือถ้าแรงเหลือก็อาจจะลอง 20 กม.​(8 รอบ) แต่ดันตื่นซะเกือบตี 5 เลยกลายเป็นว่า เอาแค่ 15 กม. ก็พอแล้วดีกว่า แดดเริ่มแรง แล้วก็แวะคุยกับกลุ่มน้องที่มาวิ่งกัน (เรียกว่าไม่สนใจเวลาละ เพราะกะมาลองรองเท้า)

ระยะทาง 2 รอบแรก ยังไม่เจอใคร เลยลองวิ่งเร็วกว่าปกติของตัวเองเล็กน้อย ผมวิ่งด้วย pace ราวๆ 6:10 นาทีต่อ กม. ก็เหนื่อยดีเหมือนกัน แต่เจลพื้นรองเท้าทำงานได้ดีมากๆ รู้สึกได้ตั้งแต่ใส่รองเท้าแล้วออกวิ่งเบาๆ เพื่อวอร์มอัพร่างกายก่อนยืดเหยียดด้วยซ้ำ รู้สึกสบายเท้ากว่ากันมาก

บทสรุป

ผมคงเปรียบเทียบกับ Nike Structure 15 ที่ใช้มาตลอด 5 เดือน เท่านั้นเพราะมีรวมๆ กันแค่ 2 คู่ 

เช้าวันศุกร์ (28 มิถุนายน) ผมวิ่งระยะ 10 กม. (4 รอบ) ที่สวนลุม สถานที่และเส้นทางเดียวกัน เมื่อเทียบความรู้สึกในการใช้งานจริงเป็นครั้งแรกกับรองเท้าคู่ใหม่ (เหมือนกับการลองทดสอบหูฟัง สายสัญญาณ แอมป์หูฟัง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ความรู้สึกแรกจะเป็นตัวบอกเราได้ชัดเจนที่สุด ในความต่างระหว่างของสองสิ่ง อันนี้เป็นแนวทางของผมนะ) บอกได้ว่า Asics Gel-Kayano 19 คู่นี้ รองรับการกระแทกได้ดีกว่ามากๆ และด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า Nike ที่ผมซื้อมาเล็กไปหน่อย (เบอร์ 11 เล็กกว่า 2 เบอร์ เพราะทั้งสองยี่ห้อมีเบอร์ 11.5 ด้วย) ทำให้การวิ่งในระยะ 15 กม. ไม่รู้สึกว่านิ้วเท้าถูกบีบ และเกิดความรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะการกดที่ปลายนิ้วเท้าจนเกิดการห้อเลือด และเจ็บปลายเท้าหลังการวิ่ง ตอนแรกที่ได้มาแล้วลองใส่ Asics คู่นี้ ก็ยังคิดอยู่ว่าใหญ่ไปนิดนึงมั้ย แต่พอวิ่งผ่านรอบที่ 5 (ระยะทาง 12.5 กม) ไปแล้ว ได้คำตอบว่าขนาดที่เลือกมานั้นถูกต้องแล้ว



ตอนที่วิ่งฮาล์ฟมาราธอน และรายการวิ่งที่เกิน 10 กม. ขึ้นไป ผมรู้สึกได้ว่า เท้าทั้งสองข้างขยายตัวมากกว่าเดิม ดังนั้นผลของขนาดรองเท้า การรองรับแรงกระแทก จะทำให้เรารู้สึกได้ว่า ไม่สบายเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ระยะ 10 กม. (มินิมาราธอน) จะไม่รู้สึกมากเท่าไหร่ (นอกจากหลังถอดรองเท้าแล้วกดปลายนิ้วเท้าดู) และคิดว่าตัดสินใจได้ถูกต้องที่เลือก Gel-Kayano 19 แทนที่จะเป็น Gel-Nimbus 14 เพราะเจลที่ฝ่าเท้ามีมากกว่า ซึ่งตอนที่วิ่งนั้นรู้สึกได้เลย

การรองรับน้ำหนักที่ดีกว่าในแต่ละจังหวะก้าว น้ำหนักรองเท้าที่เบาสวมสบายและไม่บีบ เชื่อว่าน่าจะทำให้วิ่งได้อย่างปลอดภัยในระยะยาวได้ ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน 

ก็คอยพิสูจน์กันต่อไปแล้วกันนะ ^^

ปล. สำหรับคนที่สนใจรองเท้าวิ่ง asics หรือรองเท้าลำลอง Onitsuka Tiger ลองเข้าไปดู ที่นี่ ครับ (บริการดีมากๆ เลยบอกต่อครับ)

Saturday, June 29, 2013

ครั้งแรก กับการวิ่งกลางฝน

เป็นการวิ่งที่ไม่ได้บันทึกไว้ใน Nike+ เพราะไอโฟนคงโดนความชื้นเข้าไปจนหยุดทำงาน และดับไปเอง!!!


(ภาพจาก http://runbydesign.com/training/top-5-things-to-watch-for-while-running-in-the-rain/)

เช้าวันนั้นอากาศครึ้มและอบอ้าว แต่คิดว่ายังไม่มีลมแรงหรือฟ้าแลบฟ้าร้อง คงไม่แย่นักถ้าจะออกไปวิ่ง หลังจากกินอาหารรองท้อง เตรียมตัวเรียบร้อยก็ออกไปขึ้นรถเมล์หน้าคอนโด ที่หมายคือวิ่งรอบวังสวนจิตรดา

พอลงรถเมล์และข้ามฝั่งไปที่ทางวิ่งรอบวัง ฝนก็เริ่มลงเม็ดเลย ให้มันได้ยังงั้นสิ แต่ใจคิดว่าคงไม่หนักมาก (มั้ง) ก็เลยเริ่มวิ่งเบาๆ ก่อน แนวต้นมะฮอกกานีใหญ่ ก็พอจะบังฝนได้ ถึงจะไม่มากนักก็ตาม


(ภาพจาก http://www.flickr.com/photos/everjeune/7251269104/)

แล้วเมื่อวิ่งไปได้เกือบรอบ ฝนก็ตกหนักขึ้นอีก คราวนี้นักวิ่งตอนเช้ามืดทุกคน ก็เริ่มเร่งฝีเท้า บ้างก็ยอมจำนวนเข้าไปหลบใต้ต้นไม้ แต่ผมวิ่งตามกลุ่มนักวิ่งชายหญิงขาประจำที่นั่น ไปหลบที่สถานีรถไฟจิตรดา ตอนนั้นฝนลงเม็ดหนาไม่มีท่าทางจะหยุดซะแล้ว

หลังจากรออยู่เกือบครึ่งชั่วโมง บางคนที่ขี่มอร์เตอร์ไซค์มาเริ่มเดินทางกลับ แล้วจู่ๆ ฝนก็ขาดเม็ด พวกที่ยืนรอจนหายเหนื่อย ก็รีบวิ่งข้ามฝั่งกันไปที่ทางวิ่ง ทุกคนคิดเหมือนกันคือ แยกย้ายกันกลับบ้าน เพราะสุดท้ายแล้ว ระหว่างทางที่กึ่งเดินกึ่งวิ่งกลับคอนโด พระพิรุณก็โปรยปรายลงมาอีกหลายยก ตอนนั้นเองที่ไอโฟนหยุดทำงาน


(ภาพจาก http://warrenmars.com/poetry/saner_milers.htm)

กลับมาถึงที่ห้อง รีบอาบน้ำเปลี่ยนชุด แล้วมานั่งสำรวจอาการโทรศัพท์ โชคดีที่มีไขควงที่ใช้กับน๊อตของไอโฟน เลยจัดการถอดแยกฝาหลังแล้วเช็ดความชื้นที่เข้าไปในเครื่อง รวมทั้งเอาไดร์เป่าผมมาไล่ความชื้นอีกสักพัก แล้วทิ้งเครื่องไว้อีกครึ่งวัน ก่อนจะประกอบกลับแล้วเปิด โชคดีอีกครั้งที่ไม่มีอะไรช็อตเสียหายตอนน้ำเข้า ไม่งั้นคงโดนค่าซ่อมอีกแน่ๆ

สำหรับการวิ่งกลางฝนนั้น หลักในการดื่มน้ำ หรือความเร็วที่ใช้ เท่าที่อ่านมาก็ไม่ต่างอะไรจากการวิ่งปกติคือ ร่างกายของเรายังมีการสูญเสียเหงื่อในอัตรเท่ากันกับตอนที่ฝนไม่ตก แต่จะน้อยกว่าการวิ่งตอนที่มีแดด ดังนั้นน้ำดื่ม และหมวก ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ และหลังจากนั้น หากต้องออกไปวิ่งรายการในวันที่คิดว่าฝนจะตก ผมจะติดถุง Ziploc หรือถุงใส่ยาที่รูดปากปิดได้ ขนาดพอจะใส่โทรศัพท์รวมทั้งสายรัดแขนและหูฟังไปด้วยเสมอ


(ภาพจาก http://www.trailreflections.com/2012/08/23/why-i-went-running-in-the-rain/)

ผมไม่ได้กลับไปวิ่งรอบวังสวนจิตรนานแล้ว แต่ก็ยังนั่งรถเมล์ผ่านทุกวันที่ไปและกลับจากที่ทำงานทั้งช่วงเช้าและเย็น และด้วยสภาพการจราจรบนถนนราชวิถีที่มีรถมากเกินผิวถนน ก็ต้องทำให้ลงเดินกลับคอนโดเกือบทุกวันเหมือนกัน ติดตรงไหนก็ขอเค้าลงตรงนั้น บางวันก็ยังเห็นสมาชิกที่วิ่งกันประจำที่นั่น


(ภาพจาก http://www.examiner.com/article/tips-for-running-a-race-the-rain)

หน้าฝน ถ้าไม่ได้ลองวิ่งกลางสายฝนสักครั้ง มันก็ไม่ใช่หน้าฝนสินะ

ครั้งแรก กับการซ้อมวิ่ง 10 กม.

หลังจากที่ถามใจตัวเองหลายครั้ง ให้เริ่มไปออกกำลังกายอะไรสักอย่าง ที่จะทำให้แข็งแรงกว่าเดิม และลดน้ำหนัก (พุง) ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีโอกาสชั่งน้ำหนักหรือสำรวจรูปร่างตัวเอง

แล้วในที่สุด ก็ได้เวลาไปวิ่งจริงๆ ซะที ส่วนเหตุผลที่เริ่มวิ่ง ได้เล่าให้ฟังไปแล้วใน running diary เป็นการเริ่มต้นแบบไม่ต้องมีการเตรียมร่างกายวอร์มอัพ ผมวิ่งออกจากคอนโดไปที่ทางวิ่งรอบวังสวนจิตรดา แบบรวดเดียวจบ กะทำสถิติตั้งแต่ออกจากบ้านกันเลย

แล้วก็ได้เรื่อง เพราะไม่ได้มีการวอร์มอัพหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (อ่านหัวข้อ "ก่อนและหลังการวิ่ง" ใน เตรียมตัวดี ... วิ่งอย่างมีความสุข) พอเริ่มวิ่งในเส้นทางจริงๆ (ตอนนั้นยังใช้รองเท้าวิ่งคู่เก่า ที่ไม่น่าจะเหมาะสำหรับการวิ่ง เป็นรองเท้าลำลองของ Nike ซะมากกว่า) กล้ามเนื้อน่องและหน้าขาเกิดอาการล้าทันที 

เพราะนอกจากไม่เตรียมตัวก่อนวิ่งแล้ว ยังไม่เคยวิ่งยาวๆ แบบนี้มาก่อนหลายปี แต่ตั้งใจว่าอยากลองระยะ มินิมาราธอนเลย ทำให้พยายามทั้งวิ่งช้าบ้าง เร็วบ้าง เดินซะเยอะ ต้องเรียกว่านับเสาไฟแสดงสว่างรอบวัง วิ่งสองเสา เดินสามเสา หรือวิ่งสามเสา เดินสองเสา ในช่วงท้าย ทำเอาลิ้นห้อยตาลายไปเลย เพราะน้ำดื่มที่เตรียมไว้ ก็เกลี้ยงไปตั้งแต่รอบที่ 2 แล้ว




ระยะทางวิ่งรอบวังสวนจิตรลดา 1 รอบ มีระยะ  3.3 กม. นั่นทำให้สะดวกในการนับรอบสำหรับการวิ่ง 10 กม. เพราะถ้าวิ่งครบ 3 รอบก็จะเกินระยะ 10 กม. มานิดเดียว เรียกว่าไม่ถึงร้อยเมตร สะดวกดี




แต่จุดที่เป็นข้อด้อยของทางวิ่งที่นี่คือ พื้นผิวเป็น stamp concrete หรือคอนกรีตพิมพ์ลวดลายเหมือนลายหิน ซึ่งพื้นผิวของคอนกรีตจะแข็งกว่าพื้น Asphalt หรือ พื้นถนนทั่วไปที่มีการราดยาง (ที่เราเรียกว่ายางมะตอย) อันนี้เป็นสิ่งที่พี่นักวิ่งท่านนึงที่พักที่คอนโดเดียวกันบอกไว้ ตอนที่เริ่มมีอาการเจ็บเข่าหลังวิ่งรายการไปสองสามครั้งว่า เคยไปวิ่งรอบวังสวนจิตรไม่กี่ครั้ง เพราะพื้นผิวที่แข็งจะมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เข่า หรือสะโพก




แต่การวิ่งระยะ 10 กม. แรกของชีวิตในวันนั้น ก็ทำให้รู้สึกว่า เรายังวิ่งไหวอยู่นะ แม้จะตามด้วยอาการปวดเมื่อยน่อง เมื่อยตัว ไปอีกเกือบตลอดช่วงสัปดาห์ก็ตาม

Wednesday, June 26, 2013

จำได้ว่า ตอนเด็กไม่เคยชอบการวิ่งเลย

เพราะไม่ใช่แนวนักกีฬาเหมือนเพื่อนๆ ไม่มีพรสวรรค์ด้านกีฬาเลยก็ว่าได้ T_T

คงเหมือนเด็กมัธยมต้น (ม.2) ทุกคนตั้งแต่ก่อนสมัยผมจนถึงปัจจุบัน (เมื่อกี้ถามลูกชายที่กำลังเรียน ม.2) คือเราต้องเรียนกรีฑา ทั้งชนิดลู่และลาน และการวิ่ง ก็รวมอยู่ในนี้ด้วยแน่ๆ 

ย้อนไปตอนปี 2525 (สมัยที่มีการคาดเดาว่าโลกจะแตก แล้วก็มีหนังฝรั่ง 2525 โลกาวินาศมาโกยเงินอยู่พักนึงนั่นแหละ) ผมเรียนอยู่ที่ โรงเรียนวิสุทธรังษี ซึ่งเป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัดกาญจนบุรี


สนามโรงเรียนที่ต่างจังหวัดเกือบจะทุกโรงเรียน จะกว้างมาก เรียกได้ว่าว่ิ่งเล่นกันเหนื่อย แล้วก็จะมีสนามฟุตบอล กับลู่วิ่งมาตรฐานโรยปูนขาว สภาพแตกต่างกันไป ภาพข้างล่างเป็นสนามของโรงเรียนมีรั้วกั้นอย่างดี สมัยผมเรียน บางทีมีวัวเข้ามากินหญ้าด้วยซ้ำไป สนามไม่ได้ดีขนาดนี้ หน้าฝนมีหลุมบ่อ มีบ่อขนาดที่ว่ากบเขียดไปวางไข่กันได้เลย ส่วนอาคารทรงไทยเตี้ยๆ ใกล้ๆ เสาธงในภาพข้างล่าง คือที่ๆ อาจารย์จะมายืนดูพวกเราวิ่ง ...​กลางแดดตอนบ่าย




กลับมาที่เรื่องวิ่ง อาจารย์ที่แทบทุกคนจะจบจากวิทยาลัยพละศึกษา จะสอนทักษะการออกสตาร์ท การแอ่นอกตอนเข้าเส้นชัย พวกนี้ไม่ยาก แต่ที่ยากและไม่เคยทำเวลาได้เลยคือตอนที่วิ่งจริงๆ นี่แหละ



เริ่มจากระยะ 100 เมตร, 200 เมตร, 400 เมตร, 800 เมตร และไกลที่สุดที่วิ่งตอนนั้นคือ 1,500 เมตร เราจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-10 คน แล้วก็มีซ้อมบ้าง ตามระยะต่างๆ แต่เพราะช่วงเวลาคาบเรียนสั้น อาจารย์มักให้ไปซ้อมกันมาก่อน พอถึงคาบ ก็สอบกันเลย



สองรูปข้างบน คือภาพที่เห็นตอนเรายืนอยู่ตรงศาลามองเพื่อนๆ แต่ละกลุ่มวิ่งกัน ก่อนที่จะถึงเวลาของกลุ่มเรา และสิ่งที่เดาไม่ยากคือ ผมสอบไม่ผ่านเลยสักระยะเดียว พยายามสุดๆ ยังไง เวลาก็ตกแบบเฉียดฉิว จนสุดท้ายก็ต้องหาเวลาไปสอบซ่อม ไปวิ่งอีกกับคนที่วิ่งไม่ผ่านจากห้องอื่นๆ แล้วก็จบแบบไม่ผ่านอีกอยู่ดี

โชคดีที่อาจารย์เห็นใจว่าไม่เคยหนี ก็ให้เกรดผ่านมาได้กันทุกคน

แต่ผมจำได้ว่า ผมไม่เคยชอบการวิ่งอีกเลยนับตั้งแต่ตอนนั้น มันเหมือนกันเราไม่มีวันจะทำได้ เพื่อนๆ หลายคนไปเรียนต่อสายทหาร ติดดาว จนทุกวันนี้คงต่อคิวรอยศนายพล หรือหลายคนที่เป็นชั้นประทวน ก็คงยศตันอยู่ที่ไหนสักแห่ง



คำขวัญโรงเรียน ฟังดูคล้ายของมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมัยก่อนนักเรียนที่จบจากที่นี่ถ้าไม่ต่อวิทยาลัยครู (สมัยนี้เป็นราชภัฏ) ก็ต่อรามคำแหง มีน้อยมากที่ได้เรียนคณะดีๆ


ต้นโพธิ์ใหญ่ตรงทางออก ที่ๆ เคยมานั่งเปิดข้าวกล่องกลางวันกินกับเพื่อนๆ บนรถทหาร ที่มาเป็นรถบริการรับส่งนักเรียนกลับไปค่าย กองพลทหารราบที่ ๙ ... ต้นโพธิ์ต้นนี้ กวีซีไรท์ และศิลปินแห่งขาติ และศิษย์เก่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็เคยเขียนบทกวีไว้อย่างไพเราะจับใจ

ช่วงเดือนเมษายน 2556 ผมแวะเข้าไปที่โรงเรียน ไปดูบรรยากาศเก่าๆ แล้วก็ถ่ายภาพ ยังจำได้ถึงแดดแรงๆ สนามที่ไม่ค่อยจะมีหญ้า กับความรู้สึกว่า ทำไมเพื่อนๆ 40 กว่าคนวิ่งผ่านหมด แต่มีอยู่ 3-4 คนที่ไม่เคยสอบผ่าน หนึ่งในนั้นยังเข้ามาเรียนต่อด้วยกันในกรุงเทพ อยู่หอเดียวกัน จนจบปริญญาด้วยกัน และคบกันจนทุกวันนี้ ไว้สักวันคงจะลองชวนมันมาวิ่งด้วยกัน

ใครที่เรียนจบมานานแล้ว ว่างๆ ลองหาโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียน หรือไปไหว้ครูอาจารย์บ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ ใครเรียนเก่งหรือเป็นพวกตัวแสบ ก็คงไล่รุ่นกันไม่นาน แต่กรณีผม คงต้องท้าวความกันเป็นวัน

Sunday, June 23, 2013

เตรียมตัวดี ...​วิ่งอย่างมีความสุข

ตอนที่เริ่มต้นวิ่งใหม่ๆ ก็หาข้อมูลเยอะเหมือนกัน ว่าเราจะต้องเตรียมตัวยังไงตั้งแต่คืนก่อนวิ่ง เช้าตื่นขึ้นมาเตรียมตัว การวางแผนการเดินทาง การยืดเหยียดก่อนหลังวิ่ง การวอร์มอัพ และคูลดาวน์

ลองมาดูขึ้นตอนต่างๆ กันว่ามีอะไรบ้าง


เย็นก่อนวิ่ง
ไม่ทานอาหารรสจัด เพราะอาจจะทำให้ท้องเสีย การสูญเสียน้ำในร่างกาย ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการออกกำลังกาย และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะร่างกายต้องการพลังงานเต็มที่

ในกรณีวิ่งระยะไกลมากขึ้นกว่ามินิมาราธอน ก็อาจจะต้องมีการเตรียมตัวโหลดคาร์บ (Load Carbohydrate) เพื่อให้แป้งที่ได้จากคาร์โบไฮเดรต แปลงรูปเป็นไกลโคเจน (Glycogen) ที่ร่างกายจะสามารถดึงออกมาใช้งานได้ทันที รวดเร็วกว่าการดึงพลังงานจากไขมัน (ขั้นตอนการโหลดคาร์บ ลองหาอ่านจากแหล่งอื่นๆ ดูครับ)


คืนก่อนวิ่ง
หลักการพื้นฐานง่ายๆ ก่อนการวิ่งคือ การพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอ แต่ละคนมีจำนวนชั่วโมงในการพักผ่อนเต็มที่ต่างกัน บางคน 6 ชั่วโมง บางคน 8 ชั่วโมง บางคนน้อยหรือมากกว่านั้น

เวลาเข้านอนที่เหมาะสม ผมดูจากสถานที่จัดงานวิ่ง และเวลาปล่อยตัวครับ นั่นคือถ้าสถานที่จัดงานใกล้และเราคุ้นเคย และเวลาปล่อยตัวไม่เช้ามาก เราก็มีเวลาเตรียมต้วเอ้อระเหยมาก (แต่ก็อย่าประมาทละกัน) ถ้าสถานที่อยู่ไกล เราก็ต้องเผื่อเวลาเดินทาง เผื่อหลง (เพราะเช้ามากๆ ไม่มีใครให้ถามทาง และบางครั้งระบบนำทางก็ทำงานแปลกๆ) เผื่อสภาพการจราจร (อันนี้จริงๆ ไม่ต้องห่วงมาก)

ยกตัวอย่างเช่นวิ่งที่สวนลุม ปล่อยตัวเวลา 06:00 น. ผมจะต้องออกจากบ้านไม่เกินตี 5 เพราะใช้เวลาเดินทางราวๆ ครึ่งชั่วโมง แต่หากยังไม่ได้รับเบอร์วิ่งก็ต้องออกเช้าขึ้นอีกหน่อย เพราะจะต้องเผื่อเวลาสำหรับการต่อคิวรับเบอร์ หรือฝากของ และแน่นอนสำหรับการวอร์มอัพยืดเหยียดก่อนปล่อยตัว

ก่อนเข้านอนต้องตั้งนาฬิกาปลุกที่เราเผื่อเวลาต่างๆ ไว้ดีแล้ว เตรียมชุดวิ่ง เสื้อ กางเกง กางเกงชั้นใน ถุงเท้า รองเท้า สายรัดแขนสำหรับใส่เครื่องเล่นเพลง mp3 (หรือสมาร์ทโฟน) หูฟัง หมวก นาฬิกา เบอร์วิ่ง (ถ้าได้มาแล้ว) ใบเสร็จและใบสมัคร (กรณีต้องไปรับที่สถานที่จัดงาน) (คนอื่นๆ อาจจะมี สายคาดเอว เจลให้พลังงาน ปลอกแขน ครีมกันแดด) ไว้ให้พร้อม มีเป้เล็กๆ สักอันก็เป็นไอเดียที่ดี เพราะหลังวิ่งเราสามารถยัดๆ ของใส่เข้าไปได้สะดวก

ตื่นเช้า อาหารเช้า
ตื่นขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน ใครจะอาบน้ำหรือไม่ก็แล้วแต่ สังเกตุความรู้สึกของเราเองว่ายังง่วงมากหรือไม่ มีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ หรือความไม่พร้อมอื่นๆ หรือเปล่า

สำหรับอาหารเช้า ผมจะกินขนมปังโฮลวีท 3 แผ่นทาเนยถั่ว หรือแยม หรือนิวเตร่า กับกาแฟ 3 in 1 หนึ่งแก้ว (จริงๆ อยากทำ Capuccino แต่มันใช้เวลานานเกินไป) แล้วต่อด้วยนมสด 1 แก้ว ถ้าวิ่งระยะที่เกินกว่ามินิมาราธอน ผมจะทานไข่ต้มอีก 2 ฟอง ส่วนใครจะทานอาหารหนักอื่นๆ ก็แล้วแต่ความชอบหรือสะดวกครับ จบด้วยน้ำเปล่า 1 แก้ว (จริงๆ ถ้าทำได้ก็อยากทานกล้วยน้ำว้าสักลูกสองลูก แต่ยังไม่เคยหามาเตรียมไว้ทานเลยเหมือนกัน)

ก่อนออกจากบ้าน เข้าห้องน้ำขับถ่ายให้เรียบร้อย การฝึกนิสัยการขับถ่ายเป็นเวลา จะช่วยตรงนี้ได้มากๆ การปวดท้องระหว่างการวิ่ง ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอน ถึงจะวิ่งในเมืองก็เถอะ

การเดินทาง
ถ้าเตรียมตัวคำนวณเผื่อเวลาได้ดี เราจะไม่ต้องรีบมาก สิ่งที่สำคัญคือแผนที่ (ในกรณีที่ไม่ทราบสถานที่จัดงาน) ถ้าออกจากบ้านสายกลัวไม่ทันหาที่จอดรถ แนะนำแท๊กซี่ครับ

ถ้าขับรถไปถึงบริเวณจัดงานแล้วหาที่จอดรถไม่ได้ ไม่ควรจะรอให้เจ้าหน้าที่เคลียร์ที่จอดรถ ถ้าทำได้ หาที่จอดรถที่ไกลออกไปอีกนิด (และควรจะปลอดภัย) แล้วเดินเท้าเข้าไปในงาน หรือใช้บริการมอร์เตอร์ไซค์ (ถ้ามีแถวนั้น) จะดีกว่า


ก่อนและหลังการวิ่ง


ภาพจาก เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย (www.facebook.com/bananarunning)

วอร์มอัพ ยืดเหยียด ก่อนการวิ่ง
วอร์มอัพ - เดินหรือจ๊อก 10-15 นาที เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการยืดเหยียด ให้กล้ามเนื้อ และหัวใจ พร้อมก่อนการวิ่ง สังเกตุง่ายๆ คือเราจะเริ่มมีเหงื่อ นั่นคือพร้อมสำหรับการยืดเหยียด

ยืดเหยียด - กายบริการ ยืดเหยียดร่างกายทุกส่วน (รวมทั้งแขน หัวไหล่ด้วย ไม่ใช่เฉพาะขา เข่า หรือบริหารข้อเท้า)

ส่วนใครจะไปกดน้ำมันมวยที่มีตามงานวิ่ง มาทาถูนวด ก็แล้วแต่ความชอบครับ บางคนบอกจำเป็น อีกหลายคนบอกไม่ต้องก็ได้ แต่ส่วนตัวผมชอบนะ มันหอมดี (เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย)

คูลดาวน์ ยืดเหยียด หลังการวิ่ง
คูลดาวน์ - เดินหรือจ๊อก 10-15 นาที เพื่อให้ร่างกายสลายกดแลคติกในกล้ามเนื้อ

ยืดเหยียด - ทำเหมือนการยืดเหยียดก่อนการวิ่ง

ในทางปฏิบัติ ผมสังเกตุว่ามีนักวิ่งน้อยคนมากๆ ที่จะทำการคูลดาวน์ได้ดีพอ หรือยืดเหยียดได้เหมาะสม เพราะหลังวิ่ง ทุกคนจะหิวน้ำ หรืออาหาร ส่วนมากก็จะใช้เวลาที่่ต่อแถวน้ำหรืออาหารนั่นแหละในการยืดเหยียด (แบบไม่เต็มที่) นอกจากนั้นก็จะรวมกลุ่มกันในชมรม หรือกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อถ่ายรูป หรือกิจกรรมร่วมอื่นๆ ที่สุดท้ายก็จะละเลยการคูลดาวน์และยืดเหยียดอยู่ดี

แช่เท้าหลังวิ่ง
ถ้าว่ากันตามหลักจริงๆ เค้าให้แช่เท้าในน้ำเย็นจัด สลับกับน้ำอุ่นมากๆ (Hot Dip - Cold Dip) ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้เลือดที่เลี้ยงเท้า และขาช่วงล่างมีการไหลเวียนได้ดี ทำให้รู้สึกสบายเท้าหลังจากการแช่

แต่ผมชอบแบบแช่เท้าในน้ำเย็นจัด​ (ทุกครั้งหลังวิ่งเสร็จ จะแวะซื้อน้ำแข็งยูนิค 7-11 มา 1 ถุง) พอเริ่มชาจนทนไม่ได้ ก็ยกเท้าขึ้นมา จะทำสลับเท้ากันหรือทำพร้อมกันสองเท้าก็ได้ ใช้เวลาประมาณ​ 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้นก็ซักชุดวิ่งไป 

แต่จริงๆ ผมว่าถ้าสลับแช่เท้าในน้ำเย็นจัดกับน้ำอุ่นมากๆ น่าจะดีกว่า เพราะน่าจะเป็นการบังคับการไหลเวียนของเลือดได้ดี 

ก็มีเท่านี้ครับ สำหรับการเตรียมตัวดี ที่จะทำให้เราวิ่งอย่างมีความสุข ^^

ถือว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์นะครับ ลองไปปรับใช้ดู หวังว่าคงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ 

การบาดเจ็บ ... จากการวิ่ง

คนที่รักการออกกำลังกายหลายคน ต้องเลิกวิ่งรายการ วิ่งกลางแจ้ง แต่ต้องไปวิ่งที่ลู่สายพาน หรือแย่หน่อยก็ต้องเลิกวิ่งไปเลย เพราะอาการบาดเจ็บเรื้อรัง

ผมเริ่มวิ่งตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2556 ...​ถึงเดือนมิถุนายน 2556 ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง ที่หัวเข่าซ้าย

เจ็บครั้งแรก
การบาดเจ็บครั้งแรกนั้นไม่แน่ใจว่าเกิดจากการลงเท้าที่ยังไม่ถูกต้อง หรือการวอร์มร่างกายไม่มากพอก่อนการลงวิ่ง ครั้งนั้นมีอาการเจ็บอยู่เกือบ 3 สัปดาห์ ไปหาแพทย์เกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่รพ.วิชัยยุทธ เพื่อปรึกษา สิ่งที่ได้คือ ค่ารักษาแพงรวมทั้งค่าการใช้อุปกรณ์ส่งคลื่นอัลตร้าซาวน์เพื่อช่วยทำให้เอ็นตรงหัวเข่าซ้ายด้านในเกิดอาการอ่อนตัวไม่เกร็ง ซึ่งทำให้เจ็บเวลาเดิน

แต่หลังจากนั้นวันเดียวทุกอย่างก็เหมือนเดิม ยังเจ็บเหมือนเดิม ผมทานยา Celebrex 200 mg. วันละหนึ่งเม็ด (เคยได้ยินว่าคนที่เจ็บมากต้องทานเช้าเย็น 2 เวลา) โชคดีที่ไม่มีอาการข้างเคียงเช่นการอาการมึนหรือระคายกระเพาะอาหาร ยาตัวนี้ต้องทานทันทีหลังอาหาร

การประคบเย็นทันทีที่เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ จะช่วยได้มาก และหลังจากนั้นให้ประคบร้อน เพื่อให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นไม่ตึงตัว



เจ็บครั้งที่ 2
รอบนี้เกิดจากความบ้าดันทุรังล้วนๆ เพราะรู้สึกขาพับด้านซ้ายมีอาการขัดๆ ตั้งแต่ก่อนวิ่งวันสองวัน แต่วันที่ไปว่ิงที่งาน ดีแทค เดิน-วิ่ง เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันฉัตรมงคล ก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ขับรถไปหัวหิน แวะกินข้าวที่สมุทรสงคราม พอลงจากรถแล้วเดินเข้าร้าน รู้สึกว่าเจ็บเข่าอีกแล้ว

เช้าอีกวันยังซ่า ไปวิ่งที่งาน 10th Preserve Hua Hin Heavy Half Marathon (วิ่งพิทักษ์หัวหิน เขาหินเหล็กไฟ) สุดท้ายวิ่งได้แค่ 5 กม. กว่าๆ เจ็บเข่าจนทนไม่ไหวต้องเดิน ยังดีที่ไม่เจ็บจนเข้าเส้นชัยไม่ได้ (อดเหรียญแล้วเสียใจยิ่งกว่าว่างั้น!!!)

พอวิ่งเสร็จ ขับรถลงเขา เดินกระเผลก ไปซื้อยา Celebrex ทันที แต่เอาไม่อยู่ อาการปวดเข่ารอบนี้เยอะจริงๆ เยอะจนคิดว่าจะกลับมาวิ่งไม่ได้อีกแล้ว T_T (ดราม่าไปละ) พอกลับกรุงเทพฯ รีบไปหาหมอ คราวนี้ไม่หาหมอคนเดิม (คงจบมาไม่กี่ปี ไม่ค่อยบอกอะไรเลย เสียดายตังค์) เจอระดับอาจารย์หมอละรอบนี้ อาจารย์จับหาตำแหน่งที่เจ็บ แล้วบอกว่าอาการเจ็บเกิดจาก ถุงน้ำที่เป็นตัวคั่นระหว่างเอ็นยึดหัวเข่ากับเอ็นตัวที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ เกิดอาการอักเสบ

รอบนี้อาจารย์หมอให้ยา Voltaren SR 100 mg. ให้ทานวันละหนึ่งครั้งหลังอาหารเช้า แล้วก็โชคดีอีกที่ไม่มีอาการข้างเคียงเช่นการอาการมึนหรือระคายกระเพาะอาหาร ยาตัวนี้ต้องทานทันทีหลังอาหาร เหมือนกับ Celebrex



ไปหาอาจารย์หมออีกครั้ง อาการดีขึ้นมาก ผมถามว่าอาการที่เป็นมันซีเรียสมากขนาดถึงกับต้องเลิกวิ่งมั้ย ได้รับคำตอบว่า สบายๆ ไม่ซีเรียสเลย ไม่ต้องเลิกวิ่งแน่ๆ แต่ต้องดูรองเท้าให้เหมาะสมมากขึ้น แบบที่มีการรองรับดีๆ 

ในช่วงระหว่างอาการบาดเจ็บ ผมพยายามว่ายน้ำบ่อยๆ (และเบาๆ) เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดเหยียดบ้าง ครูสอนว่ายน้ำที่คอนโด เป็นอีกคนที่ให้คำแนะนำต่างๆ ได้ดีมาก (คงจะเรียกว่าใช้ภาษาที่เราเข้าใจมากกว่าแพทย์ และครูเค้ามีประสบการณ์บาดเจ็บมาหลายครั้ง เพราะเป็นครูพละ) ทำให้เรามั่นใจว่า เราจะกลับมาวิ่งได้

ผมกลับมาวิ่งอีกครั้ง 60 ปี บ้านบางแค มินิมาราธอน และไม่มีการบาดเจ็บ และยังวิ่งต่อมาทุกวันอาทิตย์ต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมิถุนายน ...​อย่างมีความสุข

การบาดเจ็บจากการวิ่งหรือออกกำลังกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะ "จุดอ่อน" ของแต่ละคนต่างกัน ดังนั้นการวางเท้าเหมือนกัน แรงกระแทก ก็อาจจะเกิดที่ข้อเท้า หัวเข่า สะโพก ต่างกัน และเกิดการบาดเจ็บแตกต่างกันได้หลากหลาย

ข้อมูลที่เขียนอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เป็นการเล่าประสบการณ์ที่เจอมากับตัวเอง ขอให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถ้าเกิดอาการบาดเจ็บนะครับ

ต้องท่องเอาไว้ว่า ถ้าเจ็บ ต้องไม่ฝืน เพราะผลที่ตามมานั้น มันรุนแรงกว่าเสมอ

รองเท้า ... กับการวิ่ง

ผมยังไม่ใช่นักวิ่งที่มีประสบการณ์ เพราะเพิ่งเริ่มต้นได้ราวๆ 5 เดือนเท่านั้นเอง แต่ก็มีเพื่อนๆ น้องๆ ถามเกี่ยวกับการซื้อรองเท้าวิ่งหลายคน



จริงๆ ต้องบอกว่า รองเท้าคู่แรกที่ใช้วิ่งนั้น (Nike Structure+ 15) ผมก็ซื้อผิดเบอร์ ทั้งๆ ที่ให้พนักงานขายช่วยดูแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อต้องวิ่งนานๆ ปลายนิ้วเท้าของเราจะไปชนกับส่วนหัวของรองเท้า แล้วเกิดอาการห้อเลือด รวมทั้งการที่ร่างกายของเราพยายามป้องกันหรือซ่อมแซม ด้วยการเพิ่มชั้นของเล็บใหม่ขึ้นมาทดแทน สิ่งที่ตามมาก็คือเล็บเท้าที่ห้อเลือดจะหนาขึ้นๆ 





ดังนั้นถ้ามีคนถามว่า จะซื้อรองเท้ายี่ห้ออะไรหรือแบบไหนดี คงตอบกว้างได้เพียงว่า "ให้ไปที่แผนกรองเท้ากีฬา หรือร้านรองเท้ากีฬาที่เราชอบ แล้วลองหลายๆ แบบหลายๆ ขนาด ลองสวมแล้วเดินดู ลองขนาดที่ต่างกัน แล้วเดินทดสอบดูอีก จนกว่าจะมั่นใจว่ามันใช่"

แต่มีอีกเรื่องที่ต้องทำก่อนจะไปหารองเท้าวิ่งคู่ใจ คือ การตรวจรอยเท้า
เมื่อเราก้าวเดินส้นเท้าจะแตะพื้นก่อนตามด้วยฝ่าเท้าจนถึงนิ้วเท้า ฝ่าเท้าไม่ได้สัมผัสพื้นทั้งหมด เพราะฝ่าเท้าของคนปกติจะโค้งเหมือนหลังคาซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียก arch เมื่อเราก้าวเดิน ส้นเท้ายกจากพื้นฝ่าเท้าที่ถูกยืดเวลาเดินจะกลับสู่สภาพเดิมทำให้เกิดแรงส่ง นอกจากแรงส่งแล้วโค้งฝ่าเท้ายังเป็นตัวรับน้ำหนักเวลาเราเดิน 
หากเวลาเดินท่านเอียงโดยใช้ฝ่าเท้าด้านในมาก (over-pronation) ท่านจะมีการปวดโค้งผ่าเท้าหรือที่เรียกว่าฝ่าเท้าอักเสบ planta faciatis และปวดด้านในของเข่า หากท่านเดินโดยใช้ฝ่าเท้าด้านข้างมากไป (under-pronation)ท่านจะเกิดโอกาสเกิดอาการปวดที่ข้อเท้า ดังนั้นหากท่านมีอาการปวดเท้าต้องคิดถึงสาเหตุเหล่านี้และปรับวิธีการเดิน
(คัดลอกจาก Siamhealth

การตรวจสอบรอยเท้า

ถอดรองเท้าแล้วเอาเท้าจุ่มในน้ำและยืนบนแผ่นกระดาษสีน้ำตาลแล้วดูรอยเท้า






รูปซ้ายมือเป็นคนที่มีโค้งของฝ่าเท้าน้อยไปเรียกเท้าแบน เวลายืนจะเห็นรอยเกือบทั้งเท้าเมื่อเวลาซื้อรองเท้าต้องซื้อที่มีแผ่นรองฝ่าเท้าด้านใน

รูปกลางเวลาเรายืนคนปกติจะเห็นส้นเท้า นิ้วเท้าและบริเวณฝ่าเท้าจะพบว่าไม่เต็มฝ่าเท้า เรียกว่าเท้าปกติ

ส่วนรูปขวามือมีโค้งผ่าเท้าสูงไปฝ่าเท้าด้านนอกจะรับน้ำหนักเต็มที่ เรียกว่าเท้าโก่ง เวลาซื้อรองเท้าต้องเลือกรองเท้าสำหรับเท้าชนิดนี้และต้องมีพื้นที่รองรับน้ำหนัก และรองเท้าต้องมีส่วนรัดถึงข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าเคล็ด

(คัดลอกจาก Siamhealth

ยี่ห้ออะไรรุ่นไหนดี

อย่างที่บอกไป ว่าต้องไปลอง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ รองเท้าวิ่งราคาสูง จะมีโครงสร้างการออกแบบ ในการรับน้ำหนัก การประคองเท้าและฝ่าเท้า มีแบบสำหรับคนเท้าแบน เท้าโก่ง เท้ากว้าง และแน่นอนเท้าปกติให้เลือก ในรุ่นเดียวกัน ต่างจากรองเท้าวิ่งในเกรดรองลงมา

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขรองเท้าวิ่งราคาประหยัดของเรา เพื่อให้รองรับเท้าได้ดีขึ้น เพราะตามงานวิ่งต่างๆ หรือในเว็บไซท์เกี่ยวกับการวิ่ง ก็จะมีสินค้าไม่ว่าจะเป็นแผ่นยางรองเท้า รองส้นเท้าออกมาขายกันในราคามิตรภาพ ให้เราได้ลองเลือกใช้ดู

รองเท้ารุ่นที่ดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะสมกับเรามากที่สุดนะครับ อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้มากกว่าด้วยซ้ำ หากเลือกผิด

รองเท้าวิ่งใช้ได้นานแค่ไหน

เหมือนกับยางรถยนต์ รองเท้าวิ่งก็มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือพื้นรองเท้าที่ทำด้วยยาง ที่จะเป็นตัวรับแรงกระแทก ที่มีผลต่อข้อเท้า เข่า กระดูกสะโพก ดังนั้นผู้ใช้งานต้องหมั่นบันทึกไว้ว่า รองเท้าวิ่งแต่ละคู่ที่ซื้อมานั้น มีอายุการใช้งานกี่กิโลเมตร หรือในกรณีที่วิ่งน้อย ต้องดูว่าอายุการใช้งานกี่เดือนหรือกี่ปี

หลักๆ ที่ได้อ่านมา เค้าบอกว่า รองเท้าวิ่งคู่นึงมีอายุการใช้งาน 800-1,000 กิโลเมตร ถ้าเป็นคนที่วิ่งเยอะ น้ำหนักตัวมาก หรือวิ่งลงส้นกระแทก หรือการลงเท้าที่ไม่ปกติ ก็อาจจะต้องดูสภาพจริง และลดระยะทางการใช้งานลงมา 

ส่วนถ้ามองกันที่อายุการใช้งาน เค้าบอกว่ารองเท้าคู่นึงไม่ควรใช้เกิน 2 ปี และควรจะเลือกรองเท้าที่มีอายุน้อย (ตอนไปซื้อรองเท้า เราสามารถตรวจสอบได้จากป้ายรองเท้า ว่าผลิตวันเดือนปีไหน) ดังนั้นถ้าซื้อรองเท้าที่ลดราคา ก็ต้องรู้ว่า อายุการใช้งานจริงๆ นั้น ก็น้อยลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีนักวิ่งประสบการณ์สูงและอาจารย์ด้านกีฬาหลายท่าน ก็ให้เความเห็นว่า เราอาจจะใช้งานรองเท้าวิ่งคู่ใจ ได้นานมากกว่า 2 ปี (อาจจะถึง 3-5 ปี) หากเราหมั่นตรวจสอบสภาพพื้นรองเท้า สังเกตุอาการสักและซ่อมแซม เช่นการจับรองเท้าดัดโค้ง แล้วดูการเด้งกลับ หากค่อยๆ คืนตัวนั่นหมายความว่า ยางเริ่มหมดสภาพในการรับแรงกระแทกแล้ว แต่ถ้ายังเด้งกลับได้ดี และสภาพพื้นยังดีไม่สึกหรอกตรงจุดใดมากจนเกินไป (เพราะเกิดจากวิธีการลงเท้าของแต่ละคน ซึ่้งอาจจะแก้ไขไม่ได้ง่ายนัก) ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้อีก

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ... ถ้าคิดจะวิ่ง ขอให้เลือกรองเท้าสำหรับการวิ่ง เพราะมันถูกออกแบบมาให้ตรงกับชนิดกีฬามากที่สุด และจะช่วยลดโอกาสในการบาดเจ็บข้อเท้า เข่า สะโพก ได้อีกด้วย

หวังว่าเพื่อนๆ ที่สนใจการวิ่ง จะได้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมมานะครับ

headphones mod

จากงานอดิเรก การสังเกตุวิธีการทำงาน ศึกษาเรียนรู้จากพี่ๆ และช่างซ่อมโมสายหูฟังในวงการ กลายเป็นรายได้เสริม ที่ไม่ได้เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เน้นการบอกต่อๆ กันไป

ระยะเวลาเกือบ 2 ปี ได้โมเปลี่ยนสายหูฟัง Creative Aurvana Live! ไปแล้ว 54 ชุด และให้บริการเปลี่ยนโมสายหูฟัง ทำสายหูฟัง และสายสัญญาณอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ ในเวลาที่ว่างจากงานประจำ

คลิก ที่นี่ เพื่อติดตามดูผลงานกัน

my music

กลับมาเขียนบล๊อก เพราะอยากบันทึกการวิ่งในแบบไดอะรี่เพราะมันน่าจะเก็บข้อมูล และภาพได้เป็นสัดส่วนมากกว่าการอัพเดทใน facebook แต่ก็กลายเป็นว่าเริ่มต้นด้วยการหยิบเอาสิ่งที่ทำมาตลอดอีกอย่างมาขึ้นก่อน คือการฟังเพลง... 

คลิก ที่นี่ เพื่อไปรู้จักกับเพลงแนวที่ผมฟังกัน .. ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการฟังเพลงครับ

Wednesday, June 19, 2013

ลืมไปว่ามีเปิดบล็อกไว้หลายปีแล้ว

หลังจากอ่านบล็อกของนักวิ่งหลายๆ คน เกิดความคิดว่าเราก็น่าจะลองเขียนบันทึกดูบ้าง เพราะภาพถ่ายก็มี เรื่องราวก็มี ... มาพบว่ามีบล็อกตั้งแต่ปี 2006!!! นานเหมือนกันนะ