Sunday, June 23, 2013

รองเท้า ... กับการวิ่ง

ผมยังไม่ใช่นักวิ่งที่มีประสบการณ์ เพราะเพิ่งเริ่มต้นได้ราวๆ 5 เดือนเท่านั้นเอง แต่ก็มีเพื่อนๆ น้องๆ ถามเกี่ยวกับการซื้อรองเท้าวิ่งหลายคน



จริงๆ ต้องบอกว่า รองเท้าคู่แรกที่ใช้วิ่งนั้น (Nike Structure+ 15) ผมก็ซื้อผิดเบอร์ ทั้งๆ ที่ให้พนักงานขายช่วยดูแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อต้องวิ่งนานๆ ปลายนิ้วเท้าของเราจะไปชนกับส่วนหัวของรองเท้า แล้วเกิดอาการห้อเลือด รวมทั้งการที่ร่างกายของเราพยายามป้องกันหรือซ่อมแซม ด้วยการเพิ่มชั้นของเล็บใหม่ขึ้นมาทดแทน สิ่งที่ตามมาก็คือเล็บเท้าที่ห้อเลือดจะหนาขึ้นๆ 





ดังนั้นถ้ามีคนถามว่า จะซื้อรองเท้ายี่ห้ออะไรหรือแบบไหนดี คงตอบกว้างได้เพียงว่า "ให้ไปที่แผนกรองเท้ากีฬา หรือร้านรองเท้ากีฬาที่เราชอบ แล้วลองหลายๆ แบบหลายๆ ขนาด ลองสวมแล้วเดินดู ลองขนาดที่ต่างกัน แล้วเดินทดสอบดูอีก จนกว่าจะมั่นใจว่ามันใช่"

แต่มีอีกเรื่องที่ต้องทำก่อนจะไปหารองเท้าวิ่งคู่ใจ คือ การตรวจรอยเท้า
เมื่อเราก้าวเดินส้นเท้าจะแตะพื้นก่อนตามด้วยฝ่าเท้าจนถึงนิ้วเท้า ฝ่าเท้าไม่ได้สัมผัสพื้นทั้งหมด เพราะฝ่าเท้าของคนปกติจะโค้งเหมือนหลังคาซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียก arch เมื่อเราก้าวเดิน ส้นเท้ายกจากพื้นฝ่าเท้าที่ถูกยืดเวลาเดินจะกลับสู่สภาพเดิมทำให้เกิดแรงส่ง นอกจากแรงส่งแล้วโค้งฝ่าเท้ายังเป็นตัวรับน้ำหนักเวลาเราเดิน 
หากเวลาเดินท่านเอียงโดยใช้ฝ่าเท้าด้านในมาก (over-pronation) ท่านจะมีการปวดโค้งผ่าเท้าหรือที่เรียกว่าฝ่าเท้าอักเสบ planta faciatis และปวดด้านในของเข่า หากท่านเดินโดยใช้ฝ่าเท้าด้านข้างมากไป (under-pronation)ท่านจะเกิดโอกาสเกิดอาการปวดที่ข้อเท้า ดังนั้นหากท่านมีอาการปวดเท้าต้องคิดถึงสาเหตุเหล่านี้และปรับวิธีการเดิน
(คัดลอกจาก Siamhealth

การตรวจสอบรอยเท้า

ถอดรองเท้าแล้วเอาเท้าจุ่มในน้ำและยืนบนแผ่นกระดาษสีน้ำตาลแล้วดูรอยเท้า






รูปซ้ายมือเป็นคนที่มีโค้งของฝ่าเท้าน้อยไปเรียกเท้าแบน เวลายืนจะเห็นรอยเกือบทั้งเท้าเมื่อเวลาซื้อรองเท้าต้องซื้อที่มีแผ่นรองฝ่าเท้าด้านใน

รูปกลางเวลาเรายืนคนปกติจะเห็นส้นเท้า นิ้วเท้าและบริเวณฝ่าเท้าจะพบว่าไม่เต็มฝ่าเท้า เรียกว่าเท้าปกติ

ส่วนรูปขวามือมีโค้งผ่าเท้าสูงไปฝ่าเท้าด้านนอกจะรับน้ำหนักเต็มที่ เรียกว่าเท้าโก่ง เวลาซื้อรองเท้าต้องเลือกรองเท้าสำหรับเท้าชนิดนี้และต้องมีพื้นที่รองรับน้ำหนัก และรองเท้าต้องมีส่วนรัดถึงข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าเคล็ด

(คัดลอกจาก Siamhealth

ยี่ห้ออะไรรุ่นไหนดี

อย่างที่บอกไป ว่าต้องไปลอง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ รองเท้าวิ่งราคาสูง จะมีโครงสร้างการออกแบบ ในการรับน้ำหนัก การประคองเท้าและฝ่าเท้า มีแบบสำหรับคนเท้าแบน เท้าโก่ง เท้ากว้าง และแน่นอนเท้าปกติให้เลือก ในรุ่นเดียวกัน ต่างจากรองเท้าวิ่งในเกรดรองลงมา

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขรองเท้าวิ่งราคาประหยัดของเรา เพื่อให้รองรับเท้าได้ดีขึ้น เพราะตามงานวิ่งต่างๆ หรือในเว็บไซท์เกี่ยวกับการวิ่ง ก็จะมีสินค้าไม่ว่าจะเป็นแผ่นยางรองเท้า รองส้นเท้าออกมาขายกันในราคามิตรภาพ ให้เราได้ลองเลือกใช้ดู

รองเท้ารุ่นที่ดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะสมกับเรามากที่สุดนะครับ อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้มากกว่าด้วยซ้ำ หากเลือกผิด

รองเท้าวิ่งใช้ได้นานแค่ไหน

เหมือนกับยางรถยนต์ รองเท้าวิ่งก็มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือพื้นรองเท้าที่ทำด้วยยาง ที่จะเป็นตัวรับแรงกระแทก ที่มีผลต่อข้อเท้า เข่า กระดูกสะโพก ดังนั้นผู้ใช้งานต้องหมั่นบันทึกไว้ว่า รองเท้าวิ่งแต่ละคู่ที่ซื้อมานั้น มีอายุการใช้งานกี่กิโลเมตร หรือในกรณีที่วิ่งน้อย ต้องดูว่าอายุการใช้งานกี่เดือนหรือกี่ปี

หลักๆ ที่ได้อ่านมา เค้าบอกว่า รองเท้าวิ่งคู่นึงมีอายุการใช้งาน 800-1,000 กิโลเมตร ถ้าเป็นคนที่วิ่งเยอะ น้ำหนักตัวมาก หรือวิ่งลงส้นกระแทก หรือการลงเท้าที่ไม่ปกติ ก็อาจจะต้องดูสภาพจริง และลดระยะทางการใช้งานลงมา 

ส่วนถ้ามองกันที่อายุการใช้งาน เค้าบอกว่ารองเท้าคู่นึงไม่ควรใช้เกิน 2 ปี และควรจะเลือกรองเท้าที่มีอายุน้อย (ตอนไปซื้อรองเท้า เราสามารถตรวจสอบได้จากป้ายรองเท้า ว่าผลิตวันเดือนปีไหน) ดังนั้นถ้าซื้อรองเท้าที่ลดราคา ก็ต้องรู้ว่า อายุการใช้งานจริงๆ นั้น ก็น้อยลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีนักวิ่งประสบการณ์สูงและอาจารย์ด้านกีฬาหลายท่าน ก็ให้เความเห็นว่า เราอาจจะใช้งานรองเท้าวิ่งคู่ใจ ได้นานมากกว่า 2 ปี (อาจจะถึง 3-5 ปี) หากเราหมั่นตรวจสอบสภาพพื้นรองเท้า สังเกตุอาการสักและซ่อมแซม เช่นการจับรองเท้าดัดโค้ง แล้วดูการเด้งกลับ หากค่อยๆ คืนตัวนั่นหมายความว่า ยางเริ่มหมดสภาพในการรับแรงกระแทกแล้ว แต่ถ้ายังเด้งกลับได้ดี และสภาพพื้นยังดีไม่สึกหรอกตรงจุดใดมากจนเกินไป (เพราะเกิดจากวิธีการลงเท้าของแต่ละคน ซึ่้งอาจจะแก้ไขไม่ได้ง่ายนัก) ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้อีก

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ... ถ้าคิดจะวิ่ง ขอให้เลือกรองเท้าสำหรับการวิ่ง เพราะมันถูกออกแบบมาให้ตรงกับชนิดกีฬามากที่สุด และจะช่วยลดโอกาสในการบาดเจ็บข้อเท้า เข่า สะโพก ได้อีกด้วย

หวังว่าเพื่อนๆ ที่สนใจการวิ่ง จะได้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมมานะครับ

No comments: