Tuesday, November 19, 2013

ประสบการณ์ครั้งแรก กับงานกรุงเทพมาราธอน (2013)


อยากเขียนรีวิวจากรายการวิ่งมาหลายครั้งหลายรายการแล้ว แต่ก็ผลัดผ่อนตัวเองไปเรื่อยๆ (นิสัยนี้แก้ยากนะ) ตั้งแต่ความรู้สึกตอนวิ่ง 10 กม. ครั้งแรกรอบวังจิตรดา หรือเจ็บเข่าจนเดินเกือบครึ่งทางในรายการวิ่งพิทักษ์หัวหิน ก็เลยบอกตัวเองว่า งานกรุงเทพมาราธอนนี่แหละ ขอจริงๆ สักที

ก่อนหน้ารีวิวนี้ ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการลงสมัครงาน Standard Chartered Bangkok Marathon 2013 ลงตารางซ้อม และไปจนถึงการบาดเจ็บ จนสุดท้ายไม่สามารถซ้อมได้ตามตาราง และตัดสินใจไม่ลงระยะมาราธอน ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็ลองย้อนๆ ไปดูครับ

มาลองอ่านบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 15-17 พฤศจิกายน กับรายการวิ่งกรุงเทพมาราธอน 2013 ของผมดูครับ

ลุ้นกันจนหยดสุดท้าย เลื่อนหรือไม่เลื่อน

จากเหตุการณ์การชุมนุมบนที่แยกอุรุพงษ์ และสามเสน เรื่อยมาจนถนนราชดำเนิน บริเวณแยกมัฆวานและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดฉุกเฉิน ที่มีผลทำให้มีการปิดการจราจรในหลายๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางในแนวราบของงานกรุงเทพมาราธอน ทำให้หลายคนลุ้นว่า งานนี้จะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่


ประกาศยืนยันการจัดงานจากทางเว็บไซท์ bkkmarathon.com

และในที่สุด คณะกรรมการจัดงาน ก็ได้ประกาศว่า จะไม่มีการเลื่อนการจัดงาน แต่จะมีการเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง โดยตัดเส้นทางตามแนวราบ ตั้งแต่ถนนราชสีมาไปถนนราชวิถี วิ่งรอบวังสวนจิตรดา แล้วมาวิ่งกลับตัวที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นวิ่งตามแนวถนนราชดำเนิน  เปลี่ยนไปเป็นการยืดระยะทางการวิ่งบนเส้นทางลอยฟ้าบรมราชชนนีให้ออกไปไกลมากขึ้น สำหรับระยะทางมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอน เรียกว่าขาดเสน่ห์ไปเยอะมากเหมือนกันนะ สำหรับงานในปีนี้


เส้นทางวิ่งในปี 2556


ใจผมน่ะอยากให้เลื่อน จะได้มีเวลาซ้อมสักครั้ง แต่สุดท้ายเมื่อไม่เลื่อน ก็ต้องลุยกันล่ะ

BKK Marathon Expo ไปรับเสื้อรับเบอร์

ผู้จัดงาน เลือกสโมรทหารบก เทเวศน์ เป็นสถานที่รับเสื้อ เบอร์วิ่ง ชิบวิ่ง และของอื่นๆ ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งวันและเวลาก็ถือว่าเหมาะสม ส่วนสถานที่นั้น หลายๆ คนบอกไกลจากกลางเมือง และหายาก และยิ่งเจอการปิดถนนบริเวณนี้อีกหลายเส้น ทำให้การเดินทางไม่ง่ายเลยจริงๆ

แต่สำหรับผมมันกลายเป็นเรื่องสบายไปเลย เพราะที่พักห่างจากสโมสรทหารบกแค่กิโลเดียว ผมนั่งรถเมล์จากที่ทำงานไปรับของ แล้วเดินกลับที่พักชิลๆ ในขณะที่การจราจรแถวนั้น ติดหนักหนาสาหัสมากในช่วงเย็น


สโมสรทหารบก เทเวศร์

สโมสรทหารบกมีที่จอดรถพอสมควร (และฟรีด้วย) ถ้ากรณีมีรถเยอะ ก็คงพอที่จะจอดซ้อนคันกันได้อยู่เหมือนกัน สำหรับบรรยากาศหน้าหอประชุมนั้น ก็เหมือนงานวิ่งรายการทั่วๆ ไป คือมีโต๊ะหรือซุ้มของงานวิ่งรายการต่อๆ ไปมาตั้งรับสมัครกัน มีโชว์เสื้อโชว์เหรียญ มีแจกโบรชัวร์

ส่วนที่จะให้ดูว่าเป็นงาน Expo ขึ้นมานิดนึง ก็ตรงที่มีเต๊นท์ของ New Balance มาขายของ แต่ก็เห็นมีอยู่เจ้าเดียว ถ้าสถานที่หรือพื้นที่มากกว่านี้ มีการจัดการที่วางแผนดีมีระบบ ผมว่าน่าจะสนุกดีเหมือนกัน หลายๆ คนคงได้ช๊อปกันเพลินแน่ๆ


หน้างาน Marathon Expo

บรรยากาศภายในหอประชุม มีแยกเป็น 2 ส่วน คือ ขึ้นไปชั้นบนเพื่อรับของสำหรับระยะมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอน (รวมทั้งสำหรับคนที่จองผ่าน Go Adventure) และหอประชุมใหญ่ด้านล่างสำหรับระยะ 10 กม. 4.5 กม. และ 1.5 กม.


โถงห้องประชุมใหญ่สำหรับรับเสื้อและเบอร์ ระยะ 10, 4.5 และ 1.5

บอร์ดแสดงรายชื่อผู้สมัคร แยกกันระหว่างมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอน  มีการเรียงชื่อตามกลุ่มอายุ และแยกเพศชาย-หญิง ซึ่งผู้จัดงานใช้วิธีติดจากมุมบนขวาไล่ไปจนสุดกระดาน แล้วลงมาแถวถัดไป ถ้าใครดูวิธีการจัดเรียงไม่ออก หรือยิ่งถ้าใครฝาก messenger หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างมารับเบอร์ จะเจออีกปัญหาคือ ในใบสมัครเป็นภาษาไทย แต่บนบอร์ดเป็นภาษาอังกฤษ ผมเห็นหลายคน ที่ใช้เวลาที่บอร์ดนานมาก เพราะมันจัดเรียงค่อนข้างสับสนพอดู


บอร์ดรายชื่อนักวิ่งมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอน

เมื่อจดหมายเลข BIB (เบอร์วิ่ง) ชื่อนามสกุล ภาษาอังกฤษ และเบอร์เสื้อ ผมเดินเข้าไปในห้อง ที่แยกโต๊ะตามประเภทต่างๆ ก็เจอปัญหาอีก คือเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยจะกระตือรือร้นเลย ใช้เวลาในการหาเบอร์นานมาก ไม่มีการเรียงเบอร์ให้เป็นระบบ และบางครั้งเมื่อหาไม่เจอ ก็บอกง่ายๆ ว่าไม่มีซะยังงั้น
แต่ที่แย่ที่สุดคือ มีการแจกเหรียญกันตั้งแต่วันรับของ (อีกแล้ว สำหรับผู้จัดงานวิ่งรายนี้) แต่ไม่เพียงเท่านั้นมีการเอาเหรียญของระยะสั้น มาปนกับเหรียญสำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอนและมาราธอน ซึ่งคงเป็นความผิดพลาดของการสื่อสารของเจ้าหน้าที่เอง  ในส่วนนี้เมื่อถึงวันวิ่งจริง ก็ต้องยอมรับว่าการให้เหรียญก่อนนั้น ตัดความยุ่งยากในการจัดการได้เยอะเหมือนกัน เพียงแต่มันขัดกับความรู้สึกนิดหน่อย ว่าเราควรจะได้สัมผัสเหรียญเมื่อวิ่งจบแล้ว ส่วนใครวิ่งไม่จบ ก็ไม่น่าจะได้รับ ซึ่งเป็นกติกาสากลที่ทุกคนยอมรับ


ห้องรับเบอร์และชิบสำหรับระยะมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอน

หลังจากนั้นต้องลงมารับเสื้อที่หอประชุมใหญ่ด้านล่าง โชคดีที่ผมจดเบอร์เสื้อไว้ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ทราบขนาดเสื้อของแต่ละคน (อีกแล้ว) แทนที่จะรวมเสื้อไว้ที่จุดรับแต่ละประเภทเลยก็ไม่ทำ และแปลกใจอีกครั้ง ที่ไม่มีเสื้อกล้ามให้เลือกสำหรับระยะมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอน เฮ้อ…..!!!

และสุดท้ายผมเช็คละเอียดอีกครั้งสำหรับทั้ง 7 ชุดที่ผมไปรับ ทำให้เห็นว่าเหรียญขนาดไม่เท่ากัน เลยได้ไปขอเปลี่ยนกันตอนนั้นเลย ยังไม่นับรวมที่ว่า เข็มกลัดก็ให้ไม่ครบ หรือของมีไม่เท่ากันทุกชุด


กลับลงมารับเสื้อในห้องประชุมใหญ่และตรวจเช็คของทั้งหมด

ผมไปถึงงาน Marathon Expo ตอนบ่ายสามโมง กว่าจะออกมาได้เกือบห้าโมงครึ่ง ถือว่าเป็นการจัดที่ไม่ค่อยมีระบบเลยงานนึง ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับงาน Adidas King of The Road 2013 แล้ว ต้องบอกว่าการจัดการต่างกันราวฟ้ากับดินเลยนะ

หนึ่งวันก่อนวิ่ง

บ่ายวันเสาร์ หลังจากแวะไปที่งาน Expo อีกรอบเพื่อไปบริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัยพายุไห่เหยียนที่ฟิลิปปินส์และรับ BIB ที่ระลึก (จากบูธ Shutter Running)  ผมพาลูกชายคนโตไปซื้อรองเท้าวิ่ง แล้วก็ส่งเสื้อเบอร์และชิบให้กับน้องๆ ในกลุ่มวิ่งเดียวกัน งานนี้มีวิ่งมาราธอนกัน 2 คน และฮาล์ฟ 4 คน (รวมผมด้วย) ส่วนคนโตกับแฟนจะวิ่ง 4.5 กม. กัน  จริงๆ ต้องบอกว่าคนที่ผมรู้จักเกือบครบทุกคน (ที่เป็นนักวิ่ง) ก็มางานนี้กันเกือบครบเลย

กลับมาบริจาคเงินและรับ BIB ...​ และมื้อเย็นก่อนวิ่ง (สปาเกตตี้คาโบนาร่า)

ลูกชายได้รองเท้าที่ถูกใจ ทั้งการสวมใส่และดีไซน์ สีสัน ผมอยากพาลูกมาวิ่งนานแล้ว เพราะเค้าเป็นภูมิแพ้ และเรารู้กันดีกว่า การออกกำลังกายจะช่วยให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นมาก

เจ้าคนเล็กไปเข้าค่ายลูกเสือ มีเล่นกองไฟ และแน่นอนมันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องไปร่วมงาน เพราะเป็นครั้งแรกที่เค้าจะไม่ได้นอนกับพ่อแม่ แต่ไปค้างคืนกับเพื่อนๆ ที่ศูนย์กิจกรรมของโรงเรียน แต่สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือ ผมจะมีเวลาพักผ่อนกี่ชั่วโมงล่ะ

ลูกชายคนเล็กไปเข้าค่ายตอนเช้าลูกเสือ และอยู่ค้างคืน

กว่าเราจะออกมาจากศูนย์กิจกรรม แถวๆ ปากเกร็ด ก็สี่ทุ่มกว่าๆ ถึงที่พักก็เกือบห้าทุ่ม รีบจัดของติดเบอร์ที่เสื้อ ติดชิบที่รองเท้า และเตรียมเจล หูฟัง สายรัดเข่า สายรัดแขน ได้เข้านอนตอนห้าทุ่มเกือบครึ่ง ... สรุปคือ ผมมีเวลานอนไม่ถึง 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง!

จัดเต็ม พร้อมเอาเหรียญไปปลุกเสกด้วย!!!

ตื่นได้แล้ว ได้เวลาแล้ว!!!

ผมว่าผมหลับสนิทใช้ได้นะ ถึงแม้จะกังวลเรื่องเวลานอนที่น้อยเกินไป และความรู้สึกตื่นเต้นสำหรับงานใหญ่แบบนี้ ทันทีที่ได้ยินเสียงปลุก ก็ลุกขึ้นเลย เพราะถ้าขอต่อเวลา รับรองได้ว่าตื่นมาอีกครั้งได้เห็นแสงของเช้าวันใหม่แน่ๆ 5555

แปรงฟันล้างหน้า หลังจากนั้นอุ่นน้ำในไมโครเวฟสำหรับกาแฟสำเร็จรูป พร้อมกับปิ้งขนมปัง 3 แผ่น ผมแต่งตัวและเช็คความเรียบร้อย ทุกอย่างพร้อม (ผมไม่วางแผนว่าจะไปฝากของที่งาน เพราะกลัวว่าจะมีการจัดการแย่เหมือนที่งาน Expo) แต่เดี๋ยวก่อน ปวดท้องเข้าห้องน้ำซะแล้ว

หลังจากเสร็จธุระ ออกมาทาเนยถั่วทานกับขนมปังปิ้ง และกาแฟร้อนๆ แน่นอนว่าเช้าขนาดนี้ กับการพักผ่อนน้อย ทำให้การเคี้ยวกลืนเป็นไปได้ยากกว่าธรรมดาไม่น้อย แต่สุดท้ายก็ทำเวลาได้ดี

สวมถุงเท้า สวมรองเท้า แล้วก็ต้องเข้าห้องน้ำอีกรอบ เอ... ชักจะยังไงแล้วเนี่ย แต่ลองถามตัวเองดู คิดว่าไหว ได้เวลาออกไปลุยแล้ว ผมไม่ลืมที่จะเอาเหรียญใส่กระเป๋าหลังกางเกงไปด้วย มันก็ต้องเอาไปปลุกเสกด้วยการวิ่งกันหน่อย ไหนๆ เค้าก็ให้มาแล้ว

ตีสองสี่สิบห้านาที จังหวะดีมากที่ออกมาหน้าคอนโดแล้วได้แท๊กซี่เลย ผมเผื่อเวลาให้ถึงงานวิ่งราวๆ 1 ชั่วโมงก่อนปล่อยตัวเสมอ ไม่อยากลุ้นหากมีการปิดเส้นทาง เพราะงานนี้ระยะมาราธอนปล่อยตัวกันตั้งแต่ตีสอง และอาจจะเป็นไปได้ว่าเส้นทางที่ผมจะไปที่จุดสตาร์ทนั้น อาจจะถูกปิด แต่ก็โชคดีที่ให้รถไปส่งถึงหลังกระทรวงกลาโหม ตรงสะพานช้างโรงสี เดินนิดเดียวก็ถึงงานเลย ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 20 นาทีด้วยซ้ำไป

โอ้โห! เตรียมงานดีมากๆ ผิดกับเมื่อวานเลย

นอกจากเป็นเช้าอากาศเย็นสบายมากๆ ไม่มีเค้าของเมฆฝน หรือแนวโน้มว่าฝนจะตก เหมือนเช้าวันเสาร์ สิ่งที่ผมเห็นคือ การจัดงานที่ดูเป็นระเบียบมากๆ ทุกอย่างดูอลังการ (ยกเว้นห้องน้ำชั่วคราว ที่ไม่ได้ใช้รถสุขาเคลื่อนที่ กทม. แต่ใช้การสร้างชั่วคราวบริเวณจุดวอร์มและฝากของ)

บรรยากาศช่วงตี 3 การจัดบริเวณงานดีมากๆ

ครั้งนี้เป็นการร่วมงานกรุงเทพมาราธอนครั้งแรก เลยไม่รู้จะเปรียบเทียบกับงานปีก่อนๆ ได้ยังไง เลยวัดจากสิ่งที่เห็น ซึ่งถ้าเต็ม 10 คะแนน ผมให้ 9 เลยเอ๊า (ใจดีมาก)

หลายๆ คนหาห้องน้ำไม่เจอ แต่ผมหาเจอ และได้ใช้บริการอีกครั้ง !! บอกตัวเองว่า ยังไหว เรายังไหวอยู่ ราวๆ ตีสามยี่สิบ ก็เริ่มวิ่งเบาๆ จากแยกหน้ากรม รด. ไปที่จุดปล่อยตัว ตอนนั้นเริ่มตื่นเต้นปนกับวิตกนิดๆ ว่ากลัววิ่งไม่จบเพราะความไม่พร้อมหลายๆ ประการ แต่ก็วางแผนแล้วว่าจะไม่เร่งตัวเอง จะวิ่งตามความเร็วที่วางแผนไว้ ผมกะจบรายการนี้ด้วยเวลาในช่วง 2:10 – 2:15 ชั่วโมง นั่นคือต้องใช้ความเร็ว (pace) เฉลี่ยไม่ช้ากว่า 6:15 นาทีต่อกิโลเมตร

วิ่งจ๊อกไปกลับจนเริ่มเหงื่อซึมๆ ผมก็ยืดเหยียดร่างกาย เริ่มตั้งแต่หัว คอ ไหล่ แขน เอว ต้นขา น่อง ข้อเท้า ครบทุกส่วน ตอนนั้นเวลา 3:40 น. เหลือเวลาอีก 20 นาทีถึงเวลาปล่อยตัว ผมเดินไปหาน้ำดื่มอีกแก้ว แล้วจากนั้นก็ยืนดูเพื่อนๆ นักวิ่ง ทักทายคนที่รู้จัก และเช็คสภาพตัวเองอีกครั้ง ตอนนี้ไม่ปวดท้องแล้ว และก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก สมาธิตอนนี้พร้อมสำหรับการวิ่งเต็มที่

เวลาปล่อยตัว เวลาปล่อยพลัง

ผมเดินไปเก็บภาพแถวของเจ้าหน้าที่ ที่ยืนประสานมือเป็นแนวกั้นนักวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอน ที่ตอนนี้เริ่มมารวมตัวกันที่จุดเช็คอิน แล้วค่อยเดินไปเข้ากลุ่ม ซึ่งตอนนั้นผมคงอยู่ตรงกลางๆ ค่อนไปทางด้านหน้าของนักวิ่งจำนวน 3 พันกว่าคน

แล้วอีกราวๆ 10 นาที เราก็ได้เดินเข้าไปที่จุดสตาร์ท ไม่มีใครเร่งหรือพยายามแซงกัน ทุกคนนิ่งและมีสมาธิ แต่คนที่มาเป็นกลุ่มก็ยังได้คุยสนุกกับเพื่อนๆ ในทีมเพื่อผ่อนคลาย ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนเราเป็นทหาร กำลังจะถูกส่งออกไปรบเลย (เว่อร์ไปมั้ยเนี่ย)


กินน้ำก่อนวิ่ง แถวทีมงานกันนักวิ่ง พื้นที่รอปล่อยตัว และบรรยากาศจากกลางจุดปล่อยตัว


ผู้ประกาศแจ้งให้เราทราบว่า ตอนนั้นนักกีฬาจากยุโรปวิ่งนำในการแข่งขันมาราธอน ตามด้วยเคนย่า และบอกจำนวนของนักวิ่งระยะต่างๆ ให้เราได้ทราบ และผู้ประกาศหญิงให้คนที่วิ่งฮาล์ฟมาราธอนเป็นครั้งแรกยกมือ นับคร่าวๆ ก็น่าจะเกือบๆ ร้อยคนได้เลย

แล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง ผู้ประกาศให้นักวิ่งช่วยกันนับถอยหลัง Five – Four – Three – Two – One แล้วเสียงแตรลมจากกรรมการปล่อยตัวก็ดังขึ้นพร้อมกัน พร้อมเสียงเชียร์ของทั้งนักวิ่งและคนที่มาเชียร์ ในเวลาตีสี่ตรง

ได้เวลาปลดปล่อยพลังกันแล้ว!!!

10 กิโลเมตรแรก

ผมกดปุ่มจับเวลาบนนาฬิกาดิจิตอล และกดปุ่ม Run บน Nike+ ทันทีที่เหยียบแผ่นยาง ที่มีตัวรับสัญญาณจากชิบ ที่ติดอยู่ที่รองเท้า เป็นการเช็คอินกับระบบวิ่ง Champion Chip จากนั้นเริ่มวิ่งเหยาะๆ ตามนักวิ่งคนอื่นๆ ไป ผมเลือกเพลงแนว Fusion Jazz ของวง Horii Katsumi Project จากญี่ปุ่นที่เตรียมมาด้วยครบทุกอัลบั้ม ให้มันเล่นแบบ Random พร้อมๆ กับฟังระยะทางและความเร็วจาก Nike+ ทุกๆ ระยะ 250 เมตร ตามที่ตั้งค่าเอาไว้

ระยะทาง 500 เมตรแรกยังไม่สามารถทำความเร็วได้เพราะนักวิ่งเยอะมากๆ และเราก็ยังต้องวิ่งขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้ากันอีก สังเกตว่าทุกคนยังแรงดีไม่เห็นใครเดิน

ตอนลงสะพานผมเริ่มวิ่งทำเวลาชดเชยขาขึ้น และต้องไปเจอทางชันวิ่งขึ้นเส้นทางลอยฟ้าบรมราชชนนีกันอีกครั้งนึง เล่นเอาเหงื่อออกกันล่ะทีนี้

ความเร็วเฉลี่ยที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากปล่อยตัวและการวิ่งขึ้นเนิน (ทางยกระดับไม่ได้ราบเรียบตลอดนะ มีหลายช่วงที่เป็นทางลาดเอียง ที่ไหนมีทางลง ให้จำไว้เลยว่าขากลับมาต้องวิ่งขึ้นทางลาดนั้นอีก ผมสามารถควบคุมความเร็วที่ pace 6:15 นาทีต่อกิโลเมตร ในระยะ 10 กิโลเมตรได้อย่างดี ไม่เหนื่อยหมดแรง

เรากลับตัวกันแถวๆ สายใต้ใหม่ที่ระยะ 8 กิโลเมตรกว่าๆ การได้กลับตัวที่จุดนี้ สร้างกำลังใจได้ไม่น้อย ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่ครึ่งทาง ช่วงวิ่งกลับได้ยินเสียงนุชกับก้อย น้องในก๊วนวิ่งตะโกนเรียก ก็หันไปโบกมือส่งกำลังใจกัน

5 กิโลเมตรถัดไป

ผมยังสามารถคุมความเร็วเดิมได้ และโชคดีมากๆ ที่ผมได้เกาะไปกับคุณอาท่านนึง (พยายามหาภาพ แต่ไม่จำหน้าไม่ได้ จะต้องลองหาใหม่อีกที) ที่วิ่งได้สปิดนิ่งมากๆ เชื่อว่าท่านคงวิ่งมาหลายปีแล้ว เพราะมีนักวิ่งหลายคนที่แซงๆ ไปไหว้ทักทาย

ผมกินเจลซองแรกที่ก่อนจะถึงจุดบริการน้ำดื่ม กิโลเมตรที่ 11 แล้วเกาะคุณอาท่านนั้นต่อไป (การเกาะคือการวิ่งอยู่รักษาระยะห่างให้คงที่ เพื่อเราจะได้ไม่เร่งเกินไป หรือช้าลงเรื่อยๆ แต่คนที่เราตาม ต้องมีความเร็วที่นิ่งมากๆ) เป็นครั้งแรกที่ผมวิ่งเกาะคนอื่น จนกระทั่งผมรู้สึกว่ามีแรงมากขึ้นพอที่จะเร่งทำความเร็ว จึงค่อยๆ แซงคุณอาท่านนั้นไป ช่วงก่อนถึงกลางสะพานพระราม 8 (การแซงนั้นไม่ใช่แค่เร่งแซงกันแบบขาดๆ แต่มันเป็นการใช้ระยะทางหลายร้อยเมตร หรืออาจจะเป็นครึ่งกิโลเมตร ที่จะนำห่างจนทิ้งกันได้ขาด)

แล้วที่กลางสะพาน ก็เห็นแสงแฟลชแวบๆ ทำให้นึกขึ้นได้ว่า โปรตุ้ม แห่ง Shutter Running ได้บอกไว้เมื่อวาน ตำแหน่งผมค่อนข้างดี ไม่มีนักวิ่งกลุ่มใหญ่หรือเป็นแผงอยู่ตรงหน้า ทำให้ได้ภาพสวยๆ มาอีกภาพ แล้วจากนั้นก็เป็นทางลงสะพานไปหาแยกตัดกับถนนราชสีมา ผมพยายามเร่งฝีเท้าขึ้นด้วยการก้าวยาว เพื่อให้แรงส่งลงสะพานชดเชยความเร็วสักนิดนึง


ภาพจากกลางสะพานพระราม 8 (ขอขอบคุณ ShutterRunning.com)

ขอบคุณคุณอานักวิ่งมากๆ ครับ

3 กิโลเมตรบนทางราบ

จากสะพานพระราม 8 เราเลี้ยวขวาเข้าถนนประชาธิปไตย ถึงจุดบริการน้ำดื่มที่ระยะ 16 กิโลเมตร ตอนนี้รู้ตัวว่าความเร็วเริ่มน้อยลง ผมกินเจลอีกซองก่อนดื่มน้ำ และไม่ลืมหยิบฟองน้ำชุบน้ำเย็นโปะน้ำแข็ง (เสียดายก้อนเล็กจัง ที่งานพัทยามาราธอนก้อนใหญ่มาก เอาไปใช้ล้างรถได้เลยนะ)

ตอนขึ้นสะพานวันชาติ ขาเริ่มหมดแรง แต่ก็ไม่ได้หยุดเดิน มีนักวิ่งหลายคนเริ่มเดินตรงเชิงสะพานแบบนี้ให้เห็นแล้ว หลังลงสะพานเราเลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวร ผมไม่ลืมที่จะยกมือไหว้ไปทางอาคารที่ตั้งพระศพของสมเด็จพระสังฆราช และแอบขอพรให้ผมวิ่งจบด้วยแหน่ะ!

ผ่านวัดบวร เราวิ่งข้ามแยกตัดกับถนนสามเสน (บางลำภู) เข้าไปทางถนนพระอาทิตย์ ช่วงนี้ผมยังทำความเร็วได้ดี ถึงแม้จะค่อยๆ ช้าลงกว่าเดิม pace น่าจะอยู่ที่ 6:20 (พอดีมีโทรศัพท์เข้ามา ทำให้ Nike+ มันเพี้ยน ไม่ยอมบอกระยะและความเร็ว แอบเซ็งอีกแล้ว กับการพึ่งพา App พวกนี้) ผมชะลอเดินที่จุดบริการน้ำดื่มที่ป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 17 กิโมเมตรผ่านไปแล้ว

จากป้อมพระสุเมรุ เราวิ่งตรงไปถึงใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงละครแห่งชาติ และเลี้ยวขวาเข้าผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมแวะดื่มน้ำที่กิโลเมตรที่ 18 ด้วยความอ่อนแรง แล้วรีบก้าวขาวิ่งต่อ จนลืมหยิบแตงโมที่เค้ามีไว้บริการ รวมทั้งลืมว่าควรจะกินเจลที่ยังเหลืออีกซอง ตอนนี้บอกตัวเองได้ว่า .... หมดแรง

ภาพช่วงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขอขอบคุณ PatRunning.com)

2 กิโลเมตรสุดท้าย

ที่โค้งหัวมุมธรรมศาสตร์เข้าถนนท่าพระจันทร์ ติ๊ด (เพื่อนร่วมงาน รุ่นน้อง) เรียกทักทาย ก่อนที่ผมจะบอกให้ลุยต่อเลยไม่ต้องรอตามมารยาท แล้วจากนั้นอีกครู่เดียว ติ๊ดก็หายไปในกลุ่มนักวิ่งข้างหน้า
ส่วนผมมันเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าหมดแรงจริงๆ ผมเลี้ยวซ้ายจากท่าพระจันทร์ไปตามถนนมหาราช เส้นทางนี้จริงๆ สวยนะ มีบ้านเรือนห้องแถวยุคเก่าเยอะเลย แต่ผมไม่สนแล้ว มันเหนื่อย ผมลากตัวเองผ่านท่าช้าง ด้วยความเร็วที่ต้องบังคับให้ขาตัวเองวิ่ง จากท่าช้างไปหาท่าเตียน มันเหมือนกับนานจริงๆ ทั้งๆ ที่ระยะแค่นั้นไม่น่าจะเกิน 500 เมตร

เลี้ยวซ้ายที่ท่าเตียนเข้าถนนท้ายวัง ตอนนี้แรงผมเริ่มกลับมา เส้นชัยอยู่อีกไม่เกิน 5-600 เมตรนี้แล้วแน่ๆ (แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า ระยะทางจริงมันเท่าไหร่ เพราะ Nike+ ไม่ได้เตือนแล้วตั้งแต่ป้อมพระสุเมรุ) ผมเริ่มทำความเร็วได้ดีขึ้นกว่าช่วง 1 กม. ที่ผ่านมา


ภาพช่วง 400 เมตรสุดท้าย ถนนท้ายวังก่อนเลี้ยวเข้าถนนมหาไชย (ขอขอบคุณ ShutterRunning.com)

และเมื่อเลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมพระบรมมหาราชวังเข้าถนนมหาไชย ผมเห็นเส้นชัยในระยะสายตาชัดเจน ระยะราวๆ 200 เมตร ถ้าเป็นการวิ่งฮาล์ฟรายการผ่านๆ มาผมจะเร่งความเร็วส่งท้ายสุดกำลัง แต่งานนี้ยอมรับว่า พลังงานจะหมดถังแล้วจริงๆ จึงประคองความเร็วเดิมจนเช้าเส้นชัยในที่สุด  ผมกำหมัดแน่นชูขึ้น พูดกับตัวเองในใจว่า ไอ้เหี้ย กูทำได้แล้ว!!!


พักเหนื่อยตรงเส้นชัย ฟ้าเพิ่งเริ่มสว่าง

เอาเหรียญที่พกมาด้วย มาถ่ายภาพที่ระลึกหน่อย งานนี้คนห้อยเหรียญน้อยมาก ขี้เกียจเอามาจากบ้านกันมั้งถ้า

ผมวิ่งจบรายการฮาล์ฟมาราธอนที่ 4 ในชีวิตด้วยเวลา 2:08:07 ชั่วโมง ระยะทางจริง 19.78 กม. ความเร็วเฉลี่ย (avg. pace 6:23) ได้อันดับที่ 1,199 (จาก 3,054 คน) และอันดับกลุ่มอายุ 323 (จาก 629) และเป็นอีกครั้ง ที่ผมวิ่งตลอดเวลาไม่มีการเดิน ยกเว้นจุดบริการน้ำดื่มเท่านั้น

คิดไม่ผิดที่ลงฮาล์ฟมาราธอน

ผมตัดสินใจไม่ผิดที่สมัครฮาล์ฟ มาราธอน เผื่อเอาไว้ เพราะอาทิตย์ที่วิ่ง ตรงกับช่วงที่ลูกชายคนเล็กไปเข้าค่ายลูกเสือ และมีกิจกรรมรอบกองไฟในคืนวันเสาร์ ในขณะที่ถ้าผมไม่มีอาการบาดเจ็บและลงระยะมาราธอน ก็หมายความว่า ผมจะไม่ได้นอนแม้แต่ชั่วโมงเดียว! ซึ่งหากเป็นยังงั้นก็เหมือนกับการทรมานบันเทิง ฆ่าตัวตายดีๆ นี่เอง

การได้นอน 3 ชั่วโมง และตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการท้องเดิน 2 ครั้งที่บ้าน และอีกครั้งที่ห้องน้ำบริเวณจุดปล่อยตัว และรวมกับการซ้อมน้อยมากเนื่องจากอาการบาดเจ็บที่น่องขวาที่ยังไม่หายสนิท ก็ต้องบอกว่า ผมพอใจกับผลงานที่เวลา 2:08:07 ชั่วโมงค่อนข้างมาก

เจ้าเมฆ กับระยะ 3.84 กม. ยังยิ้มกันได้


ยิ่งกว่านั้นยังสามารถรวมกำลังที่เหลือ จากการได้พักเกือบ 10 นาทีหลังเข้าเส้นชัย (และหลังจากเกือบไม่รอดในช่วงกิโลเมตรที่ 18-19) ไปวิ่งรายการ 4.5 กม. กับ ลูกชายคนโต ที่ผมให้เค้าติดเบอร์ระยะมาราธอนของผม และเมฆก็วิ่งได้ดี ได้เหรียญอันที่ 2 ไปครองอย่างภาคภูมิใจ พร้อมกับบอกอีกว่า งานหน้าขอวิ่งระยะ 10 กม.บ้างน่าจะสนุกกว่า!!!

เจ้าเมฆยิ้มแก้มแตกหลังจากที่เรามีจังหวะดี ได้เห็นตูนบอดี้สแลม มารับเสื้อ Marathon Finisher (ซึ่งเป็นมาราธอนแรกของตูนซะด้วย) เข้าไปขอถ่ายรูปคู่ เพราะเมฆฟังเพลงของวงนี้ทุกอัลบั้ม เป็นแฟนพันธุ์แท้คนนึงก็ว่าได้ และผมเล่าให้ฟังบ่อยว่าเจอตูนวิ่งด้วยกันอยู่หลายงานเลย

เมฆกับพี่ตูนบอดี้สแลม

ทีมวิ่งของเรา ตุ๋ย แนน นุช ก้อย ทุ้ง ... คุยกันตลอด ให้กำลังใจกันทุกวัน ขอบคุณน้องๆ ทุกคน

บรรยากาศผ่อนคลายหลังวิ่งจบ

จบรายการด้วยโจ๊กร้อนๆ กับปาท่องโก๋เจ้าอร่อย

หลังพักจนหายเหนื่อย และถ่ายรูปกับน้องๆ ในกลุ่มวิ่ง และมุมต่างๆ เราก็เดินกันไปที่สามแพร่ง ซึ่งมั่นใจว่ามีอาหารเช้าอร่อยๆ รออยู่แน่ๆ  ระหว่างทางเรายังได้เก็บภาพในแพร่งภูธรและแพร่งนรา ชุมชนคลาสสิกที่เราแวะเวียนมาบ่อยๆ

โจ๊กหมูร้อนๆ และปาท่องโก๋เสวย อร่อยมาก

โจ๊กหมูใส่ไข่ร้อนๆ อุ่นท้อง กับปาท่องโก๋เสวย หน้าแพร่งนรา ทำให้เช้าวันอากาศดีจบลงได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนจะกลับไปพักผ่อนกัน

แล้วปีหน้า เราจะกลับมาอีก .. Standard Chartered Bangkok Marathon 2014


รูปเหรียญด้านหลัง ฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง

เบอร์วิ่ง BIB ช่วยเหลือผู้ประสพภัย และเหรียญด้านหน้า

ผลการวิ่งจาก Nike+


Smart's Stories มียอดเข้าชม ครบ 10,000 ครั้ง!!!

จริงๆ ผมไม่คิดเหมือนกันว่า blog ที่เปิดทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2006 แล้วไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย แต่เพราะได้ไปอ่านของเพื่อนๆ นักวิ่งหลายคนหลังจากที่เริ่มสนใจการวิ่ง แล้วเริ่มเขียนใน blog ตัวเองบ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2013 มาถึงวันนี้ ด้วยระยะเวลาราวๆ 6 เดือน มีคนสนใจเข้ามาดูแล้ว 10,000 ครั้ง!!!


เช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 เป็นเช้าที่อากาศเย็นสบาย สองวันหลังจากการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่งาน Standard Charterd Bangkok Marathon 2013 ยังไม่หายเมื่อยล้ากล้ามเนื้อสักเท่าไหร่ แต่วันนี้ก็เป็นเช้าที่รู้สึกดีจริงๆ ครับ

ขอขอบคุณเพื่อนๆ และผู้สนใจทุกคน ที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน อ่านเรื่องราวที่ผมเขียนบันทึกไว้ และหวังว่าจะยังติดตามกันต่อๆ ไป กับเรื่องราวทั้งการวิ่งและอื่นๆ ที่จะมาบันทึกไว้ที่นี่ ... Smart's Stories


Sunday, November 10, 2013

การบริจาคเลือด กับการออกกำลังกาย

คงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายประจำ หลายๆ คนเป็นผู้บริจาคโลหิต ไม่ว่าจะในส่วนของสภากาชาดไทย หรือศิริราชพยาบาล (คนที่บริจาคประจำ จะทราบว่ามี 2 ค่ายและไม่นับจำนวนครั้งที่บริจาครวมกัน)


มาบริจาคโลหิตกันเถอะ

และเชื่อว่า เราทุกคนคงทราบดีมาตลอดว่า จำนวนสต๊อกของเลือด ที่ทางสภากาชาดมีอยู่นั้น ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะหมู่เลือดพิเศษ หรือส่วนประกอบของเลือด (เช่นเม็ดเลือด เกล็ดเลือด พลาสม่า) ดังนั้น หากร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรง อยากให้หาเวลาไปบริจาค หรือหากมีรถรับบริจาคโลหิต ก็ลองไปแวะดูครับ การบริจาคโลหิตมีประโยชน์หลายอย่าง และได้บุญเยอะด้วยนะ

คลิกที่นี่ เพื่อไปที่เว็บไซท์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ซึ่งจะมีรายละเอียดขั้นตอนการบริจาคโลหิตให้เราทราบอย่างละเอียด

หรือจะลองไปดูที่ผมเคยทำไว้ตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ คลิกที่นี่ (ขั้นตอนหลายๆ อย่างอาจจะมีการปรับเปลี่ยน แต่สถานที่และบรรยากาศก็ไม่ต่างกัน)

ผมเริ่มบริจาคโลหิตมาตั้งแต่สมัยยังเรียนปวช. และบริจาคเรื่อยๆ มา มีบางช่วงที่หยุดไปเพราะไม่สะดวก หรือที่ทำงานอยู่ไกล แต่ช่วงหลายปีมานี้ที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (ถนนอังรีดูนังค์) ทำให้สามารถบริจาคได้โดยไม่เคยเว้น และยิ่งกว่านั้นยังเปลี่ยนจากผู้บริจาคโลหิตทั่วไป เป็นผู้บริจาคเม็ดเลือดแดง (ซึ่งจะต้องเว้น 4 เดือน และใช้เวลาในการบริจาคนานกว่าเนื่องจากต้องเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ก่อนการบริจาคแต่ละครั้ง ในขณะที่การบริจาคโลหิตทั่วไป จะเว้น 3 เดือน และแต่ละครั้งก็ไม่ใช้เวลานานมากนัก ยกเว้นแต่ว่ามีผู้มารอคิวบริจาคจำนวนมาก)

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

การออกกำลังกาย กับการบริจาคโลหิต

ก่อนที่จะมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างจริงจัง หลายปีมาแล้วเคยตีแบตกับเพื่อนๆ ไม่เคยพบว่า การบริจาคโลหิต จะมีผลกับร่างกายมากน้อยแค่ไหน

แต่ในปลายเดือนมิถุนายน 2556 หลังจากที่ไปบริจาคเม็ดเลือดแดง และหลังจากนั้นอีก 5 วัน ผมวิ่งฮาล์ฟมาราธอน เป็นครั้งแรก! ซึ่งในส่วนของการเตรียมร่างกายนั้น ถือว่าพร้อมสมบูรณ์ เพราะอาทิตย์ก่อนๆ หน้ามีการวิ่งซ้อมในระยะ 14 และ 16 กม. มาแล้ว ได้ผลเวลาเป็นที่น่าพอใจ และในช่วงหนึ่งวันก่อนวิ่งฮาล์ฟ ก็ทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต และเข้านอนเร็วกว่าปกติ

คิวรอเข้าตรวจความพร้อมการโลหิตทั่วไป

หลังจากปล่อยตัว สิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนคือ ไม่สามารถเร่งสปีด หรือกำหนดความเร็วในการวิ่งให้คงที่ ตามที่เคยซ้อมมาได้ แต่ต้องค่อยๆ ลดความเร็วเฉลี่ย เพื่อให้สามารถวิ่งจนจบรายการได้ งานนั้นผมกินเจลไป 3 ซอง หลังจากที่คิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ซอง (ไม่นับแตงโมอีกหลายชิ้นที่จุดกลับตัว)

ภายในส่วนของห้องรับส่วนประกอบโลหิต (เม็ดเลือด เกร็ดเลือด พลาสม่า)

อีกครั้งที่ไปวิ่งรายการแต้จิ๋ว มินิมาราธอนครั้งที่ 6 หลังจากที่บริจาคเม็ดเลือดไปก่อนหน้านั้น 5 วันเหมือนกัน ก็รู้ตัวก่อนหน้าแล้วว่า ร่างกายไม่สมบูรณ์ 100% ก็เลยวิ่งสบายๆ ไม่เร่งจนจบ

และเช่นกันเมื่อเปลี่ยนจากการวิ่งไปเป็นว่ายน้ำ เราจะเห็นเลยว่า ร่างกายเปลี่ยนไป ไม่สามารถเร่งสปีดเพื่อให้ได้เวลามาตรฐานของตัวเองได้ ทั้งที่ระยะ 1,500 เมตร และ 2,000 เมตร เรียกว่าเวลาหลุดไปเยอะมากเลยก็ว่าได้


เกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย?

การเสียเลือดออกจากร่างกายในปริมาณหนึ่ง มีผลโดยตรงกับปริมาณของเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และโดยเฉพาะในเวลาที่ออกกำลังกาย ร่างกายยิ่งจะต้องการออกซิเจนมากกว่าระดับปกติ ดังนั้นการบริจาคเม็ดเลือดแดง ยิ่งจะทำให้ร่างกายขาดความสมบูรณ์มากกว่าการบริจาคโลหิตทั่วไปอีก เพราะสิ่งที่คนบริจาคเม็ดเลือดแดงต้องทำทุกครั้งคือ การทานยาบำรุงโลหิต 3 มื้อในช่วงสัปดาห์แรกหลังบริจาค แล้วถึงทานวันละเม็ด ในขณะที่ผู้บริจาคทั่วไป เริ่มทานวันละเม็ดเลย

ดังนั้นการพยายามที่จะรักษาความเร็ว หรือพยายามให้ได้เวลาเท่าเดิม จึงหมายความว่า ร่างกายจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ แต่หากร่างกายไม่พร้อม ก็จะกลายเป็นการฝืน ซึ่งไม่มีผลดี


การบริจาคเม็ดเลือดแดง เครื่องจะคืนของเหลวอื่นๆ กลับเข้าสู่ร่างกาย เอาไปเฉพาะเม็ดเลือดแดงเท่านั้น

แล้วควรจะต้องพัก หรือทำอย่างไร?

ถ้าเราต้องการสถิติเวลาที่ดี ขอแนะนำเลยว่า ไม่ควรบริจาคโลหิตหรือเม็ดเลือดแดง ก่อนถึงวันที่จะต้องวิ่งรายการ หรือหากบริจาคก่อนถึงเวลาราวๆ 3-4 สัปดาห์ นักวิ่งจะต้องวางแผนการซ้อมให้เหมาะสมที่จะต้องปรับแผนการซ้อมให้ดี เพื่อมั่นใจว่าจะสามารถคืนความฟิตได้ทัน

หรือถ้าไม่อยากเว้นช่วงนานเกินไป หรือมีเคสที่มีผู้ป่วยรอรับเม็ดเลือด (สำหรับผู้บริจาคเม็ดเลือด) ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติโทรมาตาม (ใช่ครับ เราไม่ต้องนับเวลารอเลย เพราะบางทีขาดไปอาทิตย์นึงถึงจะครบ 4 เดือน เค้าก็โทรมาตามแล้ว) และหากเราเป็นนักวิ่งสมัครเล่น ก็ขอแนะนำว่า ถ้าต้องไปบริจาค ก็ต้องมีเวลาพักอย่างน้อย 4-5 วัน หรือถ้าให้ดีน่าจะเป็น 10 วัน (และในระหว่างนั้น ให้ซ้อมเบาๆ 5 กม. สักครั้งสองครั้งก็พอ และระหว่างนั้นควรจะทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกมื้อ ทานผักผลไม้ และพักผ่อนให้เต็มที่ รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)

และเมื่อได้ยินแตรลมสัญญาณปล่อยตัว ก็บอกตัวเองว่า ให้ปรับ pace จากเดิมอีกตามที่ร่างกายเราไหว หากรู้สึกเหนื่อย (ระดับความเหนื่อยที่ถ้าร่างกายพร้อม จะวิ่งได้เร็วกว่านี้มาก) ก็ปรับลดความเร็วลงมาอีก ไม่มีความจำเป็นต้องประคองความเร็วให้ได้คงที่ แลกกับการทำงานของร่างกายที่มากเกินไปเลย

ผมว่าเหรียญจากรายการวิ่ง หรือสถิติใหม่ของเราเอง คงไม่สำคัญเท่ากับคนที่รอเลือดเราอยู่หรอกครับ


เหรียญจากรายการวิ่ง กับเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต

ถ้าคุณเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ ที่มีพัฒนาการดี มีร่างกายพร้อมสมบูณ์ และไม่ได้รับอาการบาดเจ็บใดๆ ภายในหนึ่งปี เชื่อว่าน่าจะมีเหรียญจากรายการวิ่งไม่น้อยกว่า 20 เหรียญ หรือบางคนอาจจะมากกว่า 30 เหรียญก็ได้! 

แต่สำหรับการบริจาคโลหิตทั่วไป ถ้าเราสามารถบริจาคได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องใช้เวลา 27 ปี ถึงจะสามารถบริจาคได้ครบ 108 ครั้ง ได้รับเข็มที่ระลึก 11 เข็ม ซึ่งถือว่าเป็นเส้นชัยที่เชื่อว่าหลายคน (รวมทั้งตัวผมเอง) ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ เพราะจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้า รับพระราชทานเข็มที่ระลึกจากพระหัตถ์ ขององค์อุปถัมภ์สภากาชาดไทย

เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ที่จะได้พร้อมกับใบประกาศเกียรติคุณ

แล้วสำหรับคนใจร้อน ถามว่ามีวิธีที่เร็วกว่านี้มั้ย ตอบว่ามีครับ คือการบริจาคเม็ดเลือดแดง ที่จะได้ 2 แต้ม ต่อการบริจาค 1 ครั้ง (แต่ต้องเว้น 4 เดือน) ดังนั้นใน 1 ปี จะได้ 6 แต้ม ในขณะที่ผู้บริจาคโลหิตทั่วไปจะได้ 4 แต้ม และสำหรับการบริจาคเกร็ดเลือด จะสามารถทำได้เดือนละครั้ง ใน 1 ปีก็จะได้ 12 แต้ม

แต่การที่จะได้เป็นผู้บริจาคส่วนประกอบโลหิตนั้นไม่ง่าย แม้จะสมัครแสดงความจำนงค์แล้ว ทางศูนย์ก็อาจจะไม่เรียก กรณีผมได้เป็นผู้บริจาคเม็ดเลือดแดงเพราะวันนั้นไปบริจาคตามปกติแต่เจ้าหน้าที่อีกฝั่งเดินมาสอบถามหมู่เลือดและขอตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ก็เลยได้เป็นขาประจำผูกปิ่นโตตั้งแต่นั้นมา ซึ่งหมายความว่าก่อนบริจาคทุกครั้งเราจะต้องมีร่างกายแข็งแรงจริงๆ เพราะการเจาะตรวจจะทำอย่างละเอียด (รวมๆ แล้วโดนเข็ม 3 ครั้ง คือเจาะตรวจ ฉีดยาชาที่แขน และเจาะจริง แต่ถ้าไม่กลัวเจ็บ ไม่ต้องฉีดยาชาก็ได้ ซึ่งผมเลือกกรณีหลัง ทนเจ็บสองครั้งดีกว่า)

ทั้งหมดที่ว่าคือการคำนวณให้เห็นเชิงตัวเลขเท่านั้น เพราะในชีวิตประจำวัน คงไม่มีใครสามารถทำได้ต่อเนื่องขนาดนั้นแน่ๆ และมนุษย์เราคงไม่ได้แข็งแรงสมบูรณ์ตลอด ที่ช่วงอายุนึง อาจจะเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บ จนถึงจุดที่เราจะไม่สามารถเป็นผู้บริจาคโลหิตได้อีกต่อไป 

แต่เชื่อว่านักวิ่งหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสที่ร่างกายจะพร้อมสมบูรณ์มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงถือได้ว่า ผู้ออกกำลังกายมีโอกาสมากกว่าในการที่จะทำบุญ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

การวางแผนที่ดี สำหรับการบริจาคโลหิต และการออกกำลังกาย จะทำให้เราสามารถทำทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างมีความสุขแน่ๆ