Sunday, November 10, 2013

การบริจาคเลือด กับการออกกำลังกาย

คงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายประจำ หลายๆ คนเป็นผู้บริจาคโลหิต ไม่ว่าจะในส่วนของสภากาชาดไทย หรือศิริราชพยาบาล (คนที่บริจาคประจำ จะทราบว่ามี 2 ค่ายและไม่นับจำนวนครั้งที่บริจาครวมกัน)


มาบริจาคโลหิตกันเถอะ

และเชื่อว่า เราทุกคนคงทราบดีมาตลอดว่า จำนวนสต๊อกของเลือด ที่ทางสภากาชาดมีอยู่นั้น ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะหมู่เลือดพิเศษ หรือส่วนประกอบของเลือด (เช่นเม็ดเลือด เกล็ดเลือด พลาสม่า) ดังนั้น หากร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรง อยากให้หาเวลาไปบริจาค หรือหากมีรถรับบริจาคโลหิต ก็ลองไปแวะดูครับ การบริจาคโลหิตมีประโยชน์หลายอย่าง และได้บุญเยอะด้วยนะ

คลิกที่นี่ เพื่อไปที่เว็บไซท์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ซึ่งจะมีรายละเอียดขั้นตอนการบริจาคโลหิตให้เราทราบอย่างละเอียด

หรือจะลองไปดูที่ผมเคยทำไว้ตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ คลิกที่นี่ (ขั้นตอนหลายๆ อย่างอาจจะมีการปรับเปลี่ยน แต่สถานที่และบรรยากาศก็ไม่ต่างกัน)

ผมเริ่มบริจาคโลหิตมาตั้งแต่สมัยยังเรียนปวช. และบริจาคเรื่อยๆ มา มีบางช่วงที่หยุดไปเพราะไม่สะดวก หรือที่ทำงานอยู่ไกล แต่ช่วงหลายปีมานี้ที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (ถนนอังรีดูนังค์) ทำให้สามารถบริจาคได้โดยไม่เคยเว้น และยิ่งกว่านั้นยังเปลี่ยนจากผู้บริจาคโลหิตทั่วไป เป็นผู้บริจาคเม็ดเลือดแดง (ซึ่งจะต้องเว้น 4 เดือน และใช้เวลาในการบริจาคนานกว่าเนื่องจากต้องเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ก่อนการบริจาคแต่ละครั้ง ในขณะที่การบริจาคโลหิตทั่วไป จะเว้น 3 เดือน และแต่ละครั้งก็ไม่ใช้เวลานานมากนัก ยกเว้นแต่ว่ามีผู้มารอคิวบริจาคจำนวนมาก)

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

การออกกำลังกาย กับการบริจาคโลหิต

ก่อนที่จะมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างจริงจัง หลายปีมาแล้วเคยตีแบตกับเพื่อนๆ ไม่เคยพบว่า การบริจาคโลหิต จะมีผลกับร่างกายมากน้อยแค่ไหน

แต่ในปลายเดือนมิถุนายน 2556 หลังจากที่ไปบริจาคเม็ดเลือดแดง และหลังจากนั้นอีก 5 วัน ผมวิ่งฮาล์ฟมาราธอน เป็นครั้งแรก! ซึ่งในส่วนของการเตรียมร่างกายนั้น ถือว่าพร้อมสมบูรณ์ เพราะอาทิตย์ก่อนๆ หน้ามีการวิ่งซ้อมในระยะ 14 และ 16 กม. มาแล้ว ได้ผลเวลาเป็นที่น่าพอใจ และในช่วงหนึ่งวันก่อนวิ่งฮาล์ฟ ก็ทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต และเข้านอนเร็วกว่าปกติ

คิวรอเข้าตรวจความพร้อมการโลหิตทั่วไป

หลังจากปล่อยตัว สิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนคือ ไม่สามารถเร่งสปีด หรือกำหนดความเร็วในการวิ่งให้คงที่ ตามที่เคยซ้อมมาได้ แต่ต้องค่อยๆ ลดความเร็วเฉลี่ย เพื่อให้สามารถวิ่งจนจบรายการได้ งานนั้นผมกินเจลไป 3 ซอง หลังจากที่คิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ซอง (ไม่นับแตงโมอีกหลายชิ้นที่จุดกลับตัว)

ภายในส่วนของห้องรับส่วนประกอบโลหิต (เม็ดเลือด เกร็ดเลือด พลาสม่า)

อีกครั้งที่ไปวิ่งรายการแต้จิ๋ว มินิมาราธอนครั้งที่ 6 หลังจากที่บริจาคเม็ดเลือดไปก่อนหน้านั้น 5 วันเหมือนกัน ก็รู้ตัวก่อนหน้าแล้วว่า ร่างกายไม่สมบูรณ์ 100% ก็เลยวิ่งสบายๆ ไม่เร่งจนจบ

และเช่นกันเมื่อเปลี่ยนจากการวิ่งไปเป็นว่ายน้ำ เราจะเห็นเลยว่า ร่างกายเปลี่ยนไป ไม่สามารถเร่งสปีดเพื่อให้ได้เวลามาตรฐานของตัวเองได้ ทั้งที่ระยะ 1,500 เมตร และ 2,000 เมตร เรียกว่าเวลาหลุดไปเยอะมากเลยก็ว่าได้


เกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย?

การเสียเลือดออกจากร่างกายในปริมาณหนึ่ง มีผลโดยตรงกับปริมาณของเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และโดยเฉพาะในเวลาที่ออกกำลังกาย ร่างกายยิ่งจะต้องการออกซิเจนมากกว่าระดับปกติ ดังนั้นการบริจาคเม็ดเลือดแดง ยิ่งจะทำให้ร่างกายขาดความสมบูรณ์มากกว่าการบริจาคโลหิตทั่วไปอีก เพราะสิ่งที่คนบริจาคเม็ดเลือดแดงต้องทำทุกครั้งคือ การทานยาบำรุงโลหิต 3 มื้อในช่วงสัปดาห์แรกหลังบริจาค แล้วถึงทานวันละเม็ด ในขณะที่ผู้บริจาคทั่วไป เริ่มทานวันละเม็ดเลย

ดังนั้นการพยายามที่จะรักษาความเร็ว หรือพยายามให้ได้เวลาเท่าเดิม จึงหมายความว่า ร่างกายจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ แต่หากร่างกายไม่พร้อม ก็จะกลายเป็นการฝืน ซึ่งไม่มีผลดี


การบริจาคเม็ดเลือดแดง เครื่องจะคืนของเหลวอื่นๆ กลับเข้าสู่ร่างกาย เอาไปเฉพาะเม็ดเลือดแดงเท่านั้น

แล้วควรจะต้องพัก หรือทำอย่างไร?

ถ้าเราต้องการสถิติเวลาที่ดี ขอแนะนำเลยว่า ไม่ควรบริจาคโลหิตหรือเม็ดเลือดแดง ก่อนถึงวันที่จะต้องวิ่งรายการ หรือหากบริจาคก่อนถึงเวลาราวๆ 3-4 สัปดาห์ นักวิ่งจะต้องวางแผนการซ้อมให้เหมาะสมที่จะต้องปรับแผนการซ้อมให้ดี เพื่อมั่นใจว่าจะสามารถคืนความฟิตได้ทัน

หรือถ้าไม่อยากเว้นช่วงนานเกินไป หรือมีเคสที่มีผู้ป่วยรอรับเม็ดเลือด (สำหรับผู้บริจาคเม็ดเลือด) ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติโทรมาตาม (ใช่ครับ เราไม่ต้องนับเวลารอเลย เพราะบางทีขาดไปอาทิตย์นึงถึงจะครบ 4 เดือน เค้าก็โทรมาตามแล้ว) และหากเราเป็นนักวิ่งสมัครเล่น ก็ขอแนะนำว่า ถ้าต้องไปบริจาค ก็ต้องมีเวลาพักอย่างน้อย 4-5 วัน หรือถ้าให้ดีน่าจะเป็น 10 วัน (และในระหว่างนั้น ให้ซ้อมเบาๆ 5 กม. สักครั้งสองครั้งก็พอ และระหว่างนั้นควรจะทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกมื้อ ทานผักผลไม้ และพักผ่อนให้เต็มที่ รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)

และเมื่อได้ยินแตรลมสัญญาณปล่อยตัว ก็บอกตัวเองว่า ให้ปรับ pace จากเดิมอีกตามที่ร่างกายเราไหว หากรู้สึกเหนื่อย (ระดับความเหนื่อยที่ถ้าร่างกายพร้อม จะวิ่งได้เร็วกว่านี้มาก) ก็ปรับลดความเร็วลงมาอีก ไม่มีความจำเป็นต้องประคองความเร็วให้ได้คงที่ แลกกับการทำงานของร่างกายที่มากเกินไปเลย

ผมว่าเหรียญจากรายการวิ่ง หรือสถิติใหม่ของเราเอง คงไม่สำคัญเท่ากับคนที่รอเลือดเราอยู่หรอกครับ


เหรียญจากรายการวิ่ง กับเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต

ถ้าคุณเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ ที่มีพัฒนาการดี มีร่างกายพร้อมสมบูณ์ และไม่ได้รับอาการบาดเจ็บใดๆ ภายในหนึ่งปี เชื่อว่าน่าจะมีเหรียญจากรายการวิ่งไม่น้อยกว่า 20 เหรียญ หรือบางคนอาจจะมากกว่า 30 เหรียญก็ได้! 

แต่สำหรับการบริจาคโลหิตทั่วไป ถ้าเราสามารถบริจาคได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องใช้เวลา 27 ปี ถึงจะสามารถบริจาคได้ครบ 108 ครั้ง ได้รับเข็มที่ระลึก 11 เข็ม ซึ่งถือว่าเป็นเส้นชัยที่เชื่อว่าหลายคน (รวมทั้งตัวผมเอง) ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ เพราะจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้า รับพระราชทานเข็มที่ระลึกจากพระหัตถ์ ขององค์อุปถัมภ์สภากาชาดไทย

เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ที่จะได้พร้อมกับใบประกาศเกียรติคุณ

แล้วสำหรับคนใจร้อน ถามว่ามีวิธีที่เร็วกว่านี้มั้ย ตอบว่ามีครับ คือการบริจาคเม็ดเลือดแดง ที่จะได้ 2 แต้ม ต่อการบริจาค 1 ครั้ง (แต่ต้องเว้น 4 เดือน) ดังนั้นใน 1 ปี จะได้ 6 แต้ม ในขณะที่ผู้บริจาคโลหิตทั่วไปจะได้ 4 แต้ม และสำหรับการบริจาคเกร็ดเลือด จะสามารถทำได้เดือนละครั้ง ใน 1 ปีก็จะได้ 12 แต้ม

แต่การที่จะได้เป็นผู้บริจาคส่วนประกอบโลหิตนั้นไม่ง่าย แม้จะสมัครแสดงความจำนงค์แล้ว ทางศูนย์ก็อาจจะไม่เรียก กรณีผมได้เป็นผู้บริจาคเม็ดเลือดแดงเพราะวันนั้นไปบริจาคตามปกติแต่เจ้าหน้าที่อีกฝั่งเดินมาสอบถามหมู่เลือดและขอตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ก็เลยได้เป็นขาประจำผูกปิ่นโตตั้งแต่นั้นมา ซึ่งหมายความว่าก่อนบริจาคทุกครั้งเราจะต้องมีร่างกายแข็งแรงจริงๆ เพราะการเจาะตรวจจะทำอย่างละเอียด (รวมๆ แล้วโดนเข็ม 3 ครั้ง คือเจาะตรวจ ฉีดยาชาที่แขน และเจาะจริง แต่ถ้าไม่กลัวเจ็บ ไม่ต้องฉีดยาชาก็ได้ ซึ่งผมเลือกกรณีหลัง ทนเจ็บสองครั้งดีกว่า)

ทั้งหมดที่ว่าคือการคำนวณให้เห็นเชิงตัวเลขเท่านั้น เพราะในชีวิตประจำวัน คงไม่มีใครสามารถทำได้ต่อเนื่องขนาดนั้นแน่ๆ และมนุษย์เราคงไม่ได้แข็งแรงสมบูรณ์ตลอด ที่ช่วงอายุนึง อาจจะเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บ จนถึงจุดที่เราจะไม่สามารถเป็นผู้บริจาคโลหิตได้อีกต่อไป 

แต่เชื่อว่านักวิ่งหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสที่ร่างกายจะพร้อมสมบูรณ์มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงถือได้ว่า ผู้ออกกำลังกายมีโอกาสมากกว่าในการที่จะทำบุญ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

การวางแผนที่ดี สำหรับการบริจาคโลหิต และการออกกำลังกาย จะทำให้เราสามารถทำทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างมีความสุขแน่ๆ

No comments: