Sunday, July 28, 2013

การฝึกวิ่งเพื่อรักษาความเร็ว (Tempo Running)



เคยอ่านบทความในเว็บวิ่ง เค้าเกริ่นนำว่า นักวิ่งส่วนมากที่ไม่ได้มุ่งเน้นการทำเวลาให้ดีขึ้น ก็จะไม่มุ่งมั่นที่จะฝึกฝนหาวิธีการเร่งความเร็ว แต่ก็จะสามารถวิ่งที่ระยะต่างๆ ได้อย่างสบายๆ และส่วนมากก็จะเป็นการวิ่งระยะ 10K หรือมินิมาราธอน (เฉลี่ย 10.5K) ที่ใช้เวลาสั้นๆ และไม่ต้องเตรียมร่างกายมาก เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่หลายคนที่ต้องการให้เวลาดีขึ้น กลับไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้ฝึกตามวิธีที่เค้ามีแนะนำกันในบทความเว็บไซท์ต่างๆ ผมเองพยายามอ่านทำความเข้าใจ แล้วลองไปปฏิบัติ ก็ยังไม่ได้ผลนัก 


จนในที่สุดได้เขาทราย น้องจากชมรมวิ่งคนเก่งน้าดอนมาแนะนำ โทรมาคุยกันยาวเลย อธิบายสิ่งต่างๆ ที่เรายังมองไม่เห็นภาพ ทำให้เข้าใจมากขึ้น และเมื่อลองนำไปปฏิบัติ ก็เริ่มเห็นผลจริงๆ




การพัฒนาการวิ่ง มีกี่แบบ

เว็บไซท์เกี่ยวกับการวิ่งที่ผมมักจะเข้าไปอ่านเพื่อศึกษาเพิ่มเติมอยู่บ่อยๆ คือ Pat Running ครับ และถ้าใครลองเข้าไปติดตาม ก็คงจะคุ้นชื่อของ อาจารย์กฤตย์ ซึ่งท่านได้เคยมีผลงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นงานเขียนระดับคำภีร์ของนักวิ่งชาวไทยแน่ๆ (ยังไม่มีโอกาสเสาะหา แต่คงอีกไม่นาน)

จากกระทู้ "วิ่งเทมโป้ กับวิ่งเพซ แบบไหนเร็วกว่ากัน" อาจารย์กฤตได้อธิบายไว้ละเอียด แต่สามารถแบ่งเป็นหลักๆ ได้ 3 แบบ คือ

1) การวิ่งคอร์ท (interval training) 

2) การวิ่งยาว (Long distance training) 
3) การวิ่งเทมโป (Tempo training) 

การวิ่งคอร์ท

การวิ่งคอร์ท คือการวิ่งสปีดเวิร์ค นักวิ่งจะวิ่งในสนามลูวิ่ง 400 เมตร เพราะการฝึกจะต้องกำหนดความเร็วเป็นช่วงๆ ผลของการฝึกคือ ความสามารถในการเร่งฝีเท้า และสปีด อันนี้ขอข้ามไปก่อนเพราะยังไม่เห็นภาพ ไม่เคยฝึก

การวิ่งยาว

การวิ่งยาว ชื่อก็บอกแล้ว ว่าคือการวิ่งระยะไกล เพื่อการฝึกซ้อมไประยะมาราธอน เพื่อให้หัวใจ กล้ามเนื้อ ร่างกายมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความเร็วในการวิ่งจะไม่มากเกินไป และไม่ช้าเกินไป (ถ้าวิ่งช้า เค้ามีชื่อเรียกอีกว่า LSD: Long Slow Distance ที่นักวิ่งจะไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาหรือความเร็ว เป็นการวิ่งช้าๆ ยาวๆ แบบสนุกๆ คุยกับเพื่อนไปด้วยยังได้)



การวิ่งเทมโป้
การวิ่งเทมโป้จะอยู่ตรงกลางระหว่างการวิ่งเพื่อพัฒนาความเร็ว กับการวิ่งเพื่อพัฒนาความแข็งแกร่ง จุดมุ่งหมายหลักคือการรักษาความเร็วให้ได้ตลอดระยะเวลาการวิ่ง ไม่ให้แผ่่วปลายนั่นเอง

วิธีการฝึกแบบเทมโป้ (Tempo) จะเหมาะกับคนที่วิ่งมาสักระยะนึงแล้ว รู้ว่าตัวเองสปีดหรือ pace เท่าไหร่ ก็จะต้องกำหนดวันฝึกขึ้นสักวันนึงในหนึ่งสัปดาห์ ในวันนัั้นแทนที่จะวิ่งสปิดที่เคยวิ่ง เช่นเคยวิ่ง 10K ใช้เวลา 1:05 ชั่วโมง เราจะต้องวิ่งเร็วขึ้น แต่ลดระยะลงมา ข้อสำคัญคือ ตลอดระยะการวิ่งนั้น (อาจจะเริ่มที่ 15 นาที แต่เขาทรายแนะนำว่า ถ้าให้ได้ผล จะต้องวิ่ง 30-40 นาที หรือไม่น้อยกว่า 20 นาที) จะต้องรักษาความเร็วนั้นให้ได้ เรียกว่า ต้องไม่แผ่วปลาย

ตัวอย่างเช่น เช่นผมไปวิ่งซ้อมที่สวนลุมฯ กะว่าจะวิ่ง 1 รอบ (ระยะทาง 2.543 กม.) ปกติแต่ก่อนจะวิ่งที่ 16 นาที แต่สำหรับการวิ่งเทมโป้ ผมจะต้องวิ่งให้ได้ 13-14 นาที และในการวิ่งรอบเดียว จะต้องพยายามรักษาความเร็ว (pace) ให้ได้คงที่ตลอด (ไม่งั้นใน nike+ มันจะฟ้องเลย) พอถึงอาทิตย์ต่อไป ถ้าเราคิดว่ายังไม่ดีพอ ก็ซ้ำสปีดเดิม ระยะเท่าเดิมไปก่อน จนกว่าหัวใจ กล้ามเนื้อ มันรับได้ ไม่หอบ (ต้องบอกว่าการฝึกวิ่งเทมโป้นี่ ..เหนื่อยมาก เหนื่อยกว่าวิ่ง 10 กิโลอีก) เมื่อคิดว่าพร้อมแล้ว ก็วิ่งยาวขึ้นเป็น 2 รอบ หรือ 3 รอบ โดยสปีตด้องยังคงที่ตลอดการวิ่ง ดังนั้นเมื่อเราวิ่งรายการจริง ความเร็วของเราจะค่อยๆ ขยับ ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ความเหนื่อยยังเท่าเดิม ซึ่งมันเห็นผลชัดเจน เพราะการใช้ app nike+ และมีหูฟังเสียบหูตลอด เราจะทราบความเร็วว่า pace เราแต่ละช่วงเป็นเท่าไหร่ และเวลาที่ออกมาในแต่ละรายการ มันชัดเจนที่สุด


ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า การฝึกซ้อมวิ่งแบบเทมโป้ ช่วยเรื่องความสามารถในการประคองความเร็วได้จริงๆ ลองดูบันทึกเส้นทางวิ่ง 10K งาน Joy and Joy 17th Anniversary Mini Marathon (28 กรกฏาคม 2556) 





จะเห็นว่า เส้นแสดงทางวิ่งเป็นสีเขียวเกือบสม่ำเสมอเกือบตลอดระยะทางวิ่ง จะมีช่วงปล่อยตัว ที่มีนักวิ่งเยอะ ต้องหาจังหวะเร่งแซง โดยไม่พยายามเร่งสปีดจนเกินที่ซ้อมไว้ ไม่งั้นจะเหนื่อยเกินไปและไม่สามารถรักษาระดับความเร็วใน กม. ต่อๆ ไปได้

และเมื่อดูเส้นกราฟสีเขียวแสดงความเร็วในการวิ่ง (pace) ก็จะเห็นว่า "ค่อนข้าง" จะสม่ำเสมอ ถึงแม้ในช่วงท้ายจะมีอาการแกว่งเล็กน้อย และความเร็วลดลง แต่หากเทียบกับเมื่อก่อน ก็ถือว่าดีขึ้นมากครับ

ลองฝึกกันดูค๊าบบบบบ ^^

Tuesday, July 23, 2013

เส้นทางสู่ กรุงเทพมาราธอน 2013 (3) - ขั้นตอนการสมัคร

ถ้าให้ง่ายที่สุด ก็คงเป็นการสมัครตามงานวิ่ง ซึ่งเค้าเริ่มมาตั้งโต๊ะรับสมัครกันตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน แล้วด้วยซ้ำไป แต่บังเอิญยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงมาราธอนหรือฮาล์ฟ ก็เลยปล่อยผ่านไปเรื่อยๆ และอีกเหตุผลคือ ไม่เคยเตรียมเงินไปพอกับค่าสมัคร 800 บาทสำหรับมาราธอน (หมายถึงเอาใส่ในสายรัดแขน เผื่อกรณีฉุกเฉิน)

ดังนั้นถ้าใครยังมีไปวิ่งตามรายการต่างๆ อาจจะเลือกที่จะสมัครที่โต๊ะตามงานจะสะดวกรวดเร็วกว่า เพราะแบบฟอร์มก็กรอกง่ายกว่าใบสมัครของการวิ่งอีกหลายๆ งานด้วยซ้ำไป แต่ถ้าใครสนใจจะสมัครผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็ลองดูขั้นตอนต่อไป

1. เข้าไปที่เว็บไซท์​หลักของกรุงเทพมาราธอน  http://www.bkkmarathon.com/thai/

2. ที่เมนูด้านซ้ายมือ เลือกที่ ลงทะเบียน -> สมัครลงแข่งขันผ่านเว็บไซท์



3. คลิกเลือก คนไทย (จริงๆ เค้ารวมถึงชาวต่างชาติ ที่มีที่พำนักในไทยด้วย)


4. ถ้ามีบัญชีออนไลน์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ให้เลือก "มี" ถ้าไม่มีก็คลิกเลือก "ไม่มี"


5. กรณีนี้ ผมไม่มีบัญชีของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ก็เลือกไม่มี แล้วก็จะเห็นหน้าจอถัดไป ซึ่งให้เราเลือกว่า จะชำระเงินด้วยบัตรเครดิต (ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมการใช้ 100 บาท) หรือใช้วิธีโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ผมเลือกวิธีหลัง (ทั้งสองวิธีจะเห็นหน้าถัดไปเหมือนกัน แต่จะต่างกันตอนที่กรอกรายละเอียดบัตรเครดิต หรือการแจ้งให้โอนเงินเข้าบัญชี)


6. หน้าต่อไปเราก็จะต้องเลือกระยะทางที่ต้องการ


7. จากนั้นก็ต้องกรอกรายละเอียดส่วนตัว ชื่อนามสกุล เพศ วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ อาชีพ ขนาดเสื้อที่ต้องการ เมื่อครบแล้ว และคลิกที่ "ตกลง" เราจะเห็นหน้าจอยืนยัน โดยระบบจะให้รหัสอ้างอิงกับเรา (ตอนผมสมัครเลือกภาษาอังกฤษ ถ้าเลือกภาษาไทย หน้าจอนี้ก็จะเป็นภาษาไทย) พร้อมทั้งแนะนำวิธีการชำระเงิน ทั้งผ่านระบบธนาคารอัตโนมัติ หรือการโอนผ่านบัญชีธนาคาร ที่สำคัญคือ ต้องชำระเงินและยืนยันภายใน 15 วัน ไม่งั้นต้องเริ่มใหม่หมด


8. ขั้นตอนต่อไปคือการไปจัดการชำระเงินให้เรียบร้อย สำหรับผมใช้บัญชีธนาคารกรุงเทพ ก็เลือกใช้ Bualuang iBanking จ่ายเสร็จก็สั่งพิมพ์สลิปแล้วถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน (ต้องใช้ในวันรับเบอร์กับชิพ)


9. จากนั้นอีกไม่นาน ทางระบบก็จะส่งเมล์เตือนให้เราจ่ายเงิน พร้อมรายละเอียดต่างๆ 


10. กลับมาที่เว็บไซท์กรุงเทพมาราธอน เลือก ลงทะเบียน -> แจ้งผลการโอนเงิน แล้วป้อนหมายเลขอ้างอิง เพื่อจะแนบไฟล์รูปภาพของการชำระเงิน




11. เท่านี้ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการสมัครออนไลน์


12. สุดท้าย ระบบก็จะส่งเมล์มายืนยันว่าทุกขั้นตอนได้เสร็จสิ้นแล้ว ให้เรารอไปรับเบอร์ เสื้อวิ่ง และชิบที่ หอประชุมใหญ่ สโมสรทหารบกเทเวศร์ ถนนศรีอยุธยา ในงาน มาราธอน เอ็กซ์โป ระหว่างวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน เวลา 09:00-20:00 ถึงวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน เวลา 10:00-19:00 



สิ่งที่ทางผู้จัดงานย้ำคือ การสมัครในอัตราปกติ ถึงวันที่ 20 กันยายน 2556 และจะปรับขึ้นราคา รวมทั้งรับสมัครต่อในช่วงวันที่ 21-30 กันยายน เท่านั้น

หน้าตาของใบสมัครตามงานวิ่ง
รายละเอียดเยอะเลย เรียกว่ามีครบๆ และดีกว่านั้นคือใบสมัครไม่ซับซ้อนมากมายเหมือนสมัครออนไลน์




สรุป ... สมัครตามงานเหอะ ง่ายกว่าเยอะครับ





เส้นทางสู่ กรุงเทพมาราธอน 2013 (2) - ตารางฝึก

ผมเริ่มฝึกวิ่งก่อนตารางฝึก คือตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน นั่นคือมีเวลาฝึก 20 สัปดาห์ คงต้องลดๆ จำนวนระยะทางในช่วง 4 สัปดาห์แรกมาหน่อยละ

จากตารางฝึกที่ปรับให้เข้ากับเวลาของผมเอง ก็มาใส่รายละเอียดในแต่ละอาทิตย์เข้าไปอีกนิดนึง



เริ่มบันทึกการฝึกซ้อม ​(ก่อนตารางฝึก)
น่าจะเป็นการซ้อมสำหรับงานพัทยามาราธอน และเป็นการเตรียมร่างกายก่อนเริ่มซ้อมตามตารางจริงๆ ก็นับว่าดีเหมือนกัน เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอาการบาดเจ็บ (และขอให้ไม่เจ็บ)

  • 25 มิถุนายน 5.08 กม. (สวนลุมพินี)
  • 27 มิถุนายน 10.17 กม. (สวนลุมพินี)
  • 30 มิถุนายน 15.26 กม. (สวนลุมพินี)
  • 2 กรกฏาคม 10.17 กม. (สวนลุมพินี)
  • 5 กรกฏาคม 5.08 กม. (สวนลุมพินี)
  • 7 กรกฏาคม 10.4 กม. (Run for Health, Run to Help)
  • 9 กรกฏาคม 10.17 กม. (สวนลุมพินี)
  • 14 กรกฏาคม 10.17  กม. (The Rainbow Run 2013)
  • 16 กรกฏาคม 15.26 กม. (สวนลุมพินี)
  • 18 กรกฏาคม 7.62 กม. (สวนลุมพินี)
  • 20 กรกฏาคม 4.3 กม.​ (ลานพระบรมรูปทรงม้า)
  • 21 กรกฏาคม 21.5 กม. (Pattaya Marathon 2013)
  • 23 กรกฏาคม 5.08 กม. (สวนลุมพินี)
  • 25 กรกฏาคม 10.17 กม. (สวนลุมพินี)
  • 27 กรกฏาคม 10 กม. (Joy and Joy Mini Marathon 2013)

รวมระยะทางก่อนตารางฝึก 150.43 กม.

ถ้านับรวมตามตารางฝึก และถ้าทำได้ตามนั้น ก็คงได้ระยะฝึกประมาณ 820 กม. !!!! 

ลองดูสิ ถ้าทำได้ มาราธอนคงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว พวกปีศาจที่ กม. 35 อาจจะไม่มีจริงก็ได้ หึๆๆๆๆ

Tuesday, July 2, 2013

เส้นทางสู่ กรุงเทพมาราธอน 2013 (1) - บทเริ่มต้น

เริ่มเขียนบันทึกนี้วันที่ 2 กรกฏาคม หลังจากที่ (คิดว่า) เริ่มโปรแกรมการฝึกวิ่งด้วยตัวเอง สำหรับกรุงเทพมาราธอน (Standard Chartered Bangkok Marathon 2013) ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ก็พบว่า เริ่มเร็วเกินไป​ (ซะงั้น)




เห็นโต๊ะรับสมัครงานนี้ตั้งแต่งานวิ่งดอกบัวคู่ละ แต่ยังมีเวลาตัดสินใจอีกนานพอดู แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะลงแบบมาราธอนหรือฮาล์ฟดีด้วยสิ

การลงทะเบียนสมัครมี 2 ช่วงคือ 1 มิย. - 20 กย. (800 บาท) และ 21 กย. - 30 กย. (1,200 บาท) ถ้าเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ราคาก็จะแพงกว่านี้ ส่วนคนต่างชาติ ถ้าอาศัยหรือมีที่อยู่ในไทย ก็สมัครราคาเดียวกันกับคนไทย ก็แฟร์ดี ถ้าจะลงวิ่งฮาล์ฟ ราคาก็ลดลงเหลือ 400 บาท (สำหรับการสมัครในช่วง 1 มิย. - 20 กย.)


ระยะทาง 42.195 กม. ไม่ใช่ใกล้ๆ เลย ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าจะวิ่งมินิมาราธอน (10.5 กม) ได้ด้วยซ้ำ และคงไม่มีใครวิ่งมาราธอน โดยไม่ได้ฝึกเตรียมร่างกายให้พร้อมแน่ๆ ยกเว้นพวกที่บ้าสุดขั้ว (แต่ก็คงไม่ได้เข้าเส้นชัยแน่ๆ)

จำได้ว่าตอนดูหนังเรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน ครั้งแรกราวๆ เดือนเมษายน 2556 (หลังจากเริ่มวิ่งมา 2 เดือน) ชอบตอนสุดท้ายที่เกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนมาก แต่อารมณ์นั้นบอกตัวเองเหมือนกันว่า เราวิ่งมาราธอนไม่ไหวแน่ๆ (จะบ้าเหรอ จะวิ่งมาราธอนเนี่ยนะ!!!) แต่เส้นทางวิ่งมาราธอน มันน่าสนใจมากๆ เส้นทางในฝันเลยก็ว่าได้ เพราะผมชอบดูบ้านเรือนเก่าๆ และเดินดูมาหลายปีแล้ว ตามที่ต่างๆ ในกรุงเทพ แล้วแต่โอกาสจะอำนวย




หลังจากหาตารางฝึกวิ่งอยู่หลายที่ พบว่า ตารางที่เว็บกรุงเทพมาราธอนแนะนำ น่าจะเหมาะสมกับเวลาของผมมากที่สุด (สูตร 1ข. สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานวิ่งมินิมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอนมาบ้างแล้ว) ซึ่งเค้าบอกว่าเหมาะสมกับคนที่วิ่งมาราธอนเป็นครั้งแรก และน่าจะสามารถทำเวลาได้ในช่วง 5-6 ชั่วโมง และนอกจากตารางนี้แล้ว ก็ยังมีตารางที่เหมาะกับคนที่ไม่เคยวิ่งมินิหรือฮาล์ฟมาราธอนมาก่อน (น่าจะเข้าเส้นชัยภายใน 7 ชั่วโมง) และตารางที่เหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์ และตั้งใจทำเวลาให้ดีกว่า 5 ชั่วโมง

สูตร 1ข. เค้าหนดไว้ยังงี้



คือกำหนดให้ฝึุกวิ่งทั้งหมด 16 สัปดาห์ และแต่ละสัปดาห์ต้องพยายามวิ่งให้ได้ 4 วัน โดยในวันแรกๆ ของสัปดาห์จะเป็นการวิ่งเบาๆ และสลับกับวิ่งไกลขึ้น และในวันหยุด ต้องวิ่งระยะไกลขึ้นเรื่อยๆ ตามตาราง (โฮกกกกกกก ....)

ดูจากเวลาแล้ว ผมคงวิ่งสัปดาห์ละ 4 วันไม่ได้ ต้องลดจำนวนวัน แต่ต้องเพิ่มระยะทางเข้าไป !!!! ก็ได้ตารางนี้ออกมา (จะไหวมั้ยเนี่ย) ส่วนจำนวนรอบที่ระบุไว้ในตาราง คือรอบของการวิ่งที่สวนลุมพินี ถ้ามองเป็นการวิ่งเท่านั้นเท่านี้รอบ มันก็ดูไม่โหดนะ 

เค้าบอกว่าถ้าคิดว่าไกล ขาจะหมดแรง ซึ่งเป็นเรื่องจริง การวิ่งระยะไกล กำลังใจของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ จากประสบการณ์วิ่งที่ผ่านมา อาจจะมีนักวิ่งที่แซงเราไปแล้วหันมาเชียร์ให้กำลังใจ (กวักมือ หรือชูสองนิ้วเครื่องหมายชัยชนะ หรือยกหัวแม่โป้ง แล้วแต่) แต่ใจเราเองนี่แหละสำคัญที่สุด

ดังนั้น มองว่าเป็นการวิ่งกี่รอบสวนลุม จะดีกับกำลังใจ


ถ้านับถอยหลังจากวันที่ 17 พย. นั่นก็หมายความว่า ผมต้องเริ่มฝึกวิ่งตามตารางตั้งแต่วันที่ 30 กรกฏาคมนั่นเอง

ลองดูกันสักตั้ง ว่าจะทำได้หรือเปล่า ถ้าไม่เกิดอาการบาดเจ็บ และมีวินัยที่ดีพอ เป้าหมายคงอยู่ไม่ไกล คงจะยังไม่ลงทะเบียน ยกเว้นมีข่าวว่าคนสมัครจะเต็ม หรือจะใกล้วันที่ 20 กย.

อาาาาาา ... นี่กรูท่าจะบ้าไปแล้วสินะ @_@