ลองหาข้อมูลจากหลายๆ เว็บไซท์ที่เกี่ยวกับการวิ่ง รวมทั้งกระทู้ต่างๆ ในพันธุ์ทิพย์ พบว่านักวิ่งให้เครดิตกับรองเท้าวิ่ง Asics, New Balance, และ Mizuno ที่เค้าออกแบบมาเพื่อการวิ่ง ดีกว่ายี่ห้อดังอีก 2 ยี่ห้อคือ Adidas และ Nike (ที่ผมใช้วิ่งมาตั้งแต่แรก) แต่จริงๆ คงจะฟันธงไม่ได้หรอกว่า รองเท้ืาที่ราคาสูงจากผู้ผลิตสามรายแรกที่ว่าจะดีกว่าอีกสองยี่ห้อ เพราะรูปเท้าของคนเราต่างกัน การรองรับฝ่าเท้าหรือห่อหุ้มก็ต้องต่างกัน (ดู รองเท้า ... กับการวิ่ง) และก็มีหลายคนที่ใช้รองเท้าสองยี่ห้อหลังมาตลอด โดยไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับข้อเท้า เข่า หรือสะโพกเหมือนกัน
Asics Gel-Kayano 19 (Mid 2013 version)
Asics Gel-Kayano 19 (size 12) คู่นี้ เป็นรุ่นใหม่สำหรับกลางปี 2013 ซึ่งจะว่าไปแล้วลวดลายการออกแบบสี หรือวัสดุ ผมชอบของ Nike มากกว่าเยอะ (ผมชอบโลโก้ของ Nike มาตั้งแต่สมัยเรียน ม.4 ตอนนั้นยังมีคำว่า Nike อยู่เหนือตราเครื่องหมายคล้ายขีดถูก ชอบขนาดเอามาเพ้นท์เสื้อยืดเล่นเลย) แต่ในขณะที่ Asics ลายนี้ เป็นสีใหม่แบบที่ 4 ของ Series 19 ต่อจากสีฟ้าเหลือง ขาวฟ้า และดำ (สีดำคนก็ใช้กัน เพราะหลายคนใส่ทำงานด้วย) ตอนแรกอยากได้สีฟ้าเหลือง อยากได้สีเจ็บๆ จริงๆ อยากได้สีแดงหรือส้มด้วยซ้ำไป แต่คนขายแนะนำว่า สีนี้ใกล้จะเลิกผลิตแล้ว ดังนั้นรองเท้าที่มีในร้านหรือแผนกรองเท้า ก็น่าจะมีอายุเก็บ (Shelf Life) พอสมควร
อย่างที่ได้เขียนไปแล้ว ว่าจะซื้อรองเท้าต้องไปลองให้มั่นใจ ผมไปลองรองเท้า Asics รุ่น Gel-Kayano 19 และรุ่นใกล้เคียง (Gel Nimbus 14) และรุ่นท๊อป (Gel Kinsei 4) สิ่งที่รู้สึกได้ทันทีเมื่อเทียบกับ Nike Structure 15 ที่ใช้อยู่คือ ความนิ่มตอนลองเดินไปมาในร้าน รวมทั้งน้ำหนักที่เบาใส่สบายกว่ากันมาก แน่นอนราคาต่างกันหลายเท่าตัว ย่อมต้องมีความต่างกัน ไม่งั้นคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหารองเท้ามาเพิ่ม
Asics ทั้งสามรุ่น มีเจลรองรับที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า และช่วงปลายเท้า แตกต่างกัน รุ่น Gel Kinsei 4 มีเจลหนามากที่ปุ่มส้นรองเท้า เป็นรุ่นที่รองรับการวิ่งแบบลงส้นได้ดีที่สุด ในขณะที่ Gel Kayano 19 มีเจลที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า และไล่ไปจนถึงปลายเท้า รองรับการวิ่งได้ดีมากเช่นกัน ส่วน Gel Nimbus 14 จะมีเจลที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า และปลายเท้าแต่เท่าที่เห็นคือ จำนวนจะน้อยกว่า (ราคาก็ลดหลั่นกันลงมา)
ทำไมต้องเป็นเจล?
คงจะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรองเท้าแต่ละรายมุ่งเน้น และค้นคว้าพัฒนา ที่จะไม่พยายามทำอะไรตามกัน เพื่อสร้างจุดขาย และกำหนดโครงสร้างราคา Asics มีเจลรองรับ ในขณะที่ Nike มีเบาะอากาศรองรับ และในส่วน Adidas เน้นไปที่วัสดุศาสตร์ โดยใช้พื้นที่เป็นลักษณะโฟมที่ดูดซับและส่งแรงสะท้อนกลับได้ ผมมองว่าทั้งสามเทคโนโลยีที่ว่า ของ Nike น่าจะเปราะบางที่สุดหากเจออะไรคมๆ บาดเข้าไปในเบาะอากาศ (ยกเว้นจะวิ่งบนลู่สายพานในยิม) แต่ถ้าจะถามว่าแบบไหนดีที่สุด อันนี้ตอบไม่ได้เหมือนกัน คงต้องไปดูในเว็บต่างประเทศ หรือบล็อกของนักวิ่งที่มากประสบการณ์ ใช้รองเท้ามาแล้วหลายๆ คู่
ทดสอบภาคสนาม
จะช้าอยู่ใย? ได้รองเท้ามาก็ต้องฉลองกันหน่อย เช้าวันนี้ (30 มิถุนายน 2556) ไม่มีรายการวิ่งในกรุงเทพฯ ที่หมายผมเลยเป็นสวนลุมพินี ที่นักวิ่งในกรุงเทพฯ คุ้นเคยกันมากที่สุดนั่นเอง
ระยะทาง 2 รอบแรก ยังไม่เจอใคร เลยลองวิ่งเร็วกว่าปกติของตัวเองเล็กน้อย ผมวิ่งด้วย pace ราวๆ 6:10 นาทีต่อ กม. ก็เหนื่อยดีเหมือนกัน แต่เจลพื้นรองเท้าทำงานได้ดีมากๆ รู้สึกได้ตั้งแต่ใส่รองเท้าแล้วออกวิ่งเบาๆ เพื่อวอร์มอัพร่างกายก่อนยืดเหยียดด้วยซ้ำ รู้สึกสบายเท้ากว่ากันมาก
บทสรุป
ผมคงเปรียบเทียบกับ Nike Structure 15 ที่ใช้มาตลอด 5 เดือน เท่านั้นเพราะมีรวมๆ กันแค่ 2 คู่
เช้าวันศุกร์ (28 มิถุนายน) ผมวิ่งระยะ 10 กม. (4 รอบ) ที่สวนลุม สถานที่และเส้นทางเดียวกัน เมื่อเทียบความรู้สึกในการใช้งานจริงเป็นครั้งแรกกับรองเท้าคู่ใหม่ (เหมือนกับการลองทดสอบหูฟัง สายสัญญาณ แอมป์หูฟัง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ความรู้สึกแรกจะเป็นตัวบอกเราได้ชัดเจนที่สุด ในความต่างระหว่างของสองสิ่ง อันนี้เป็นแนวทางของผมนะ) บอกได้ว่า Asics Gel-Kayano 19 คู่นี้ รองรับการกระแทกได้ดีกว่ามากๆ และด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า Nike ที่ผมซื้อมาเล็กไปหน่อย (เบอร์ 11 เล็กกว่า 2 เบอร์ เพราะทั้งสองยี่ห้อมีเบอร์ 11.5 ด้วย) ทำให้การวิ่งในระยะ 15 กม. ไม่รู้สึกว่านิ้วเท้าถูกบีบ และเกิดความรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะการกดที่ปลายนิ้วเท้าจนเกิดการห้อเลือด และเจ็บปลายเท้าหลังการวิ่ง ตอนแรกที่ได้มาแล้วลองใส่ Asics คู่นี้ ก็ยังคิดอยู่ว่าใหญ่ไปนิดนึงมั้ย แต่พอวิ่งผ่านรอบที่ 5 (ระยะทาง 12.5 กม) ไปแล้ว ได้คำตอบว่าขนาดที่เลือกมานั้นถูกต้องแล้ว
ตอนที่วิ่งฮาล์ฟมาราธอน และรายการวิ่งที่เกิน 10 กม. ขึ้นไป ผมรู้สึกได้ว่า เท้าทั้งสองข้างขยายตัวมากกว่าเดิม ดังนั้นผลของขนาดรองเท้า การรองรับแรงกระแทก จะทำให้เรารู้สึกได้ว่า ไม่สบายเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ระยะ 10 กม. (มินิมาราธอน) จะไม่รู้สึกมากเท่าไหร่ (นอกจากหลังถอดรองเท้าแล้วกดปลายนิ้วเท้าดู) และคิดว่าตัดสินใจได้ถูกต้องที่เลือก Gel-Kayano 19 แทนที่จะเป็น Gel-Nimbus 14 เพราะเจลที่ฝ่าเท้ามีมากกว่า ซึ่งตอนที่วิ่งนั้นรู้สึกได้เลย
การรองรับน้ำหนักที่ดีกว่าในแต่ละจังหวะก้าว น้ำหนักรองเท้าที่เบาสวมสบายและไม่บีบ เชื่อว่าน่าจะทำให้วิ่งได้อย่างปลอดภัยในระยะยาวได้ ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
ก็คอยพิสูจน์กันต่อไปแล้วกันนะ ^^
ปล. สำหรับคนที่สนใจรองเท้าวิ่ง asics หรือรองเท้าลำลอง Onitsuka Tiger ลองเข้าไปดู ที่นี่ ครับ (บริการดีมากๆ เลยบอกต่อครับ)
No comments:
Post a Comment