แล้วในที่สุด ก็ได้เวลาไปวิ่งจริงๆ ซะที ส่วนเหตุผลที่เริ่มวิ่ง ได้เล่าให้ฟังไปแล้วใน running diary เป็นการเริ่มต้นแบบไม่ต้องมีการเตรียมร่างกายวอร์มอัพ ผมวิ่งออกจากคอนโดไปที่ทางวิ่งรอบวังสวนจิตรดา แบบรวดเดียวจบ กะทำสถิติตั้งแต่ออกจากบ้านกันเลย
แล้วก็ได้เรื่อง เพราะไม่ได้มีการวอร์มอัพหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (อ่านหัวข้อ "ก่อนและหลังการวิ่ง" ใน เตรียมตัวดี ... วิ่งอย่างมีความสุข) พอเริ่มวิ่งในเส้นทางจริงๆ (ตอนนั้นยังใช้รองเท้าวิ่งคู่เก่า ที่ไม่น่าจะเหมาะสำหรับการวิ่ง เป็นรองเท้าลำลองของ Nike ซะมากกว่า) กล้ามเนื้อน่องและหน้าขาเกิดอาการล้าทันที
เพราะนอกจากไม่เตรียมตัวก่อนวิ่งแล้ว ยังไม่เคยวิ่งยาวๆ แบบนี้มาก่อนหลายปี แต่ตั้งใจว่าอยากลองระยะ มินิมาราธอนเลย ทำให้พยายามทั้งวิ่งช้าบ้าง เร็วบ้าง เดินซะเยอะ ต้องเรียกว่านับเสาไฟแสดงสว่างรอบวัง วิ่งสองเสา เดินสามเสา หรือวิ่งสามเสา เดินสองเสา ในช่วงท้าย ทำเอาลิ้นห้อยตาลายไปเลย เพราะน้ำดื่มที่เตรียมไว้ ก็เกลี้ยงไปตั้งแต่รอบที่ 2 แล้ว
ระยะทางวิ่งรอบวังสวนจิตรลดา 1 รอบ มีระยะ 3.3 กม. นั่นทำให้สะดวกในการนับรอบสำหรับการวิ่ง 10 กม. เพราะถ้าวิ่งครบ 3 รอบก็จะเกินระยะ 10 กม. มานิดเดียว เรียกว่าไม่ถึงร้อยเมตร สะดวกดี
แต่จุดที่เป็นข้อด้อยของทางวิ่งที่นี่คือ พื้นผิวเป็น stamp concrete หรือคอนกรีตพิมพ์ลวดลายเหมือนลายหิน ซึ่งพื้นผิวของคอนกรีตจะแข็งกว่าพื้น Asphalt หรือ พื้นถนนทั่วไปที่มีการราดยาง (ที่เราเรียกว่ายางมะตอย) อันนี้เป็นสิ่งที่พี่นักวิ่งท่านนึงที่พักที่คอนโดเดียวกันบอกไว้ ตอนที่เริ่มมีอาการเจ็บเข่าหลังวิ่งรายการไปสองสามครั้งว่า เคยไปวิ่งรอบวังสวนจิตรไม่กี่ครั้ง เพราะพื้นผิวที่แข็งจะมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เข่า หรือสะโพก
แต่การวิ่งระยะ 10 กม. แรกของชีวิตในวันนั้น ก็ทำให้รู้สึกว่า เรายังวิ่งไหวอยู่นะ แม้จะตามด้วยอาการปวดเมื่อยน่อง เมื่อยตัว ไปอีกเกือบตลอดช่วงสัปดาห์ก็ตาม
No comments:
Post a Comment