Monday, March 31, 2014

วิ่งในเมือง...วิ่งนอกสวน

บทเริ่ม... ทำไมต้องวิ่งในเมือง

จากที่เคยเดินเล่นตามถนนเส้นเก่าเพื่อดูบ้านเรือน และชุมชนเก่าริมแม่น้ำ ก็ได้ฤกษ์วิ่งในเมืองกันดูบ้าง หลังจากที่คิดไว้นานแล้ว เพราะได้ทั้งการออกกำลังกาย และได้ชมตลาด ชมวัด ชมสวน หรืออะไรก็ตามที่เราสนใจ แล้วใครที่เป็นนักชิม ก็คงได้หาอะไรอร่อยๆ กินตามเส้นทางไปด้วย

หลังใช้เวลาพักฟื้นรอจนอาการเจ็บหน้าแข้งหายเกือบเป็นปกติ และที่สำคัญคือ สวนลุมพินี ที่เป็นสนามซ้อม ยังมีผู้ชุมนุม มีกิจกรรมต่างๆ เยอะมาก ทำให้หลีกเลี่ยงกลิ่นจากรถส้วมกทม. กลิ่นบุหรี่ หรือบรรยากาศอื่นๆ ได้ยาก (แต่ก็ยังไปปั่นจักรยานตอนเที่ยงๆ อยู่นะ) ก็เป็นช่วงที่อยากลองวิ่งตามเส้นทางที่คิดไว้

มั่นใจว่า เพื่อนๆ หลายคนอาจจะวิ่งในเมืองมานานแล้ว เพราะว่าบ้านอยู่ไกลสวนสาธารณะที่มีทางวิ่ง แต่หลายคนก็วิ่งในสวนจนเบื่อ ก็ต้องหาอะไรที่แตกต่างทำดูบ้าง 


สวนลุมบางช่วง ยังสงบ และสวยงาม รอนักวิ่งกลับมาเยือน ปลายมีนา ดอกนนทรี กับดอกประดู่ บานสวย มีเสียงจั๊กจั่นให้ฟังด้วย

เส้นทางแรก

และเพราะเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้กลับถึงบ้านไม่เย็นเกินไป ก็เลยลองวิ่งใกล้ๆ บ้านดูก่อน มาลองดูเส้นทางวิ่งครั้งแรกกัน

ออกวิ่งจากคอนโดริมสะพานซังฮี้ ไปวนบนสะพาน 1 รอบ (ขาไปวิ่งฝั่งนึง ขากลับวิ่งอีกฝั่งนึง) แล้ววิ่งเลี้ยวซ้ายไปตามถนนขาว วกเข้าไปดูริมน้ำตรงชุมชนสุดถนนสุโขทัย แล้ววิ่งย้อนตามถนนสุโขทัยไปจนถึงถนนราชสีมา วิ่งตามถนนราชสีมาจนข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปถึงถนนประชาธิปไตย จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนวิสุทธิกษัตริย์ ไปขึ้นสะพานพระราม 8 แล้วไปวิ่งรอบสวนสาธารณะสะพานพระราม 8 ก่อนจะวิ่งกลับข้ามสะพานอีกฝั่งนึง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสามเสน แวะเข้าไปท่าน้ำเทเวศน์ ต่อด้วยท่าน้ำวัดเทวราชกุญชร ท่าวาสุกรี แล้วไปเลี้ยวซ้ายที่แยกซังฮี้เข้าถนนราชวิถี รวมระยะทาง 13 กม. ด้วยเส้นทางนี้ ผมผ่านวังเก่า ตำหนักเก่า บ้านโบราณ ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เกือบ 20 แห่ง (ผมชอบสถาปัตยกรรมยุคนั้นมากๆ)


เส้นทางที่กำหนดเองได้ ปรับเปลี่ยนได้ เราเลือกเอง

โจทย์ที่คิดในใจคือ วิ่งสองสะพาน ซังฮี้ กับพระราม 8) แต่เส้นทางนั้น มันเกิดขึ้นเองหลังจากออกไปวิ่ง สังเกตุว่า ถ้าเราจะวิ่งแค่ 5 กม. ก็ทำได้เพราะระยะทางระหว่างสองสะพานนี้ไม่ไกลกัน ก็ถือว่าเป็นข้อดีของการวิ่งในเมือง วิ่งคนเดียว


ภาพจากสะพานพระราม 8

เส้นทางต่อไป

อีกไม่กี่วัน ลองเปลี่ยนเส้นทาง แต่เริ่มที่สะพานซังฮี้เหมือนกัน คราวนี้ไปทางลานพระบรมรูปทรงม้า และรอบวังสวนจิตรดาบ้าง


ระยะทางรวมเกือบ 10 กม.

อาจจะเป็นโชคดี ที่พักอยู่ในบริเวณที่มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง (แต่เวลามีม๊อบมีประท้วง ก็โดนไปเต็มๆ) ทำให้สามารถกำหนดเส้นทางวิ่งได้หลากหลาย แล้วแต่ว่าอยากจะดูอะไร


สะพานซังฮี้ช่วงเย็น กับทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา

การเริ่มวิ่งตั้งแต่ 4 โมงหรือ 5 โมงเย็น อาจจะร้อนสำหรับหลายๆ คน แต่การเริ่มต้นวิ่งเร็ว ก็หมายความว่าเราจะไปได้ไกลขึ้น เลือกเส้นทางได้มากขึ้นด้วย ถ้าวางแผนดีๆ จะไปชมพระอาทิตย์ตกที่สะพานไหนสักแห่งก็ไม่ผิดกติกา

ลานพระบรมรูปทรงม้า วัดเบญจมบพิตร และภาพแม่น้ำเจ้าพระยา

วิ่งไป-กลับ ที่ทำงาน

หลังจากที่วิ่งตอนเย็นไปได้หลายครั้ง ก็อยากลองวิ่งไปทำงานดูบ้าง เพราะระยะทางจากที่พักไปที่ทำงานถ้าขับรถ ก็ราวๆ 9 กม. เท่านั้นเอง ถ้าวิ่งน่าจะสั้นกว่านั้น เพราะสามารถตัดเส้นทางไปได้เรื่อยๆ ไม่ติดการเดินรถทางเดียว

แน่นอนว่าการศึกษาเส้นทางวิ่ง เลือกถนนที่จะใช้ และเวลาที่จะออกจากที่พัก กับความเร็วที่เราสามารถทำได้ มีส่วนกับเวลาที่จะใช้โดยตรง คืนก่อนออกวิ่งผมวางแผนโดยใช้ Google Map เพราะใช้งานง่ายและให้ข้อมูลมากพอ


ออกจากที่พักเกือบ 6 โมง ระยะทางวิ่งจริง 7.58 กม. ใช้เวลาประมาณ 55 นาที

ตอนเช้า เริ่มวิ่งตั้งแต่ยังไม่สว่าง (เพราะเข้างาน 7 โมง) มาถึงที่ทำงาน ทันได้อาบน้ำซักชุดวิ่ง ส่วนตอนเย็นเรามีเวลาวางแผนเส้นทางมากขึ้น ก็เลยกะว่าจะออกจากแถวๆ สวนลุม แล้วไปทางหัวลำโพง เข้าถนนเจริญกรุง ไปวิ่งในสวนรมณีนารถ ต่อด้วยสวนสราญรมณ์ สนามหลวง แล้วค่อยไปทางบางลำภู เข้าถนนสามเสนกลับที่พัก


 ระยะทางเกือบ 13 กม. ช่วงแรกร้อน แต่โดยรวมสนุกมาก

พอวางเส้นทางวิ่งในกรุงเทพชั้นใน จะเห็นว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โตแบบเมืองหลวงขนาด mega city ทั่วไป เพราะวันที่วิ่งมาทำงาน แล้ววิ่งกลับ มันก็แทบจะเป็นวงกลมอยู่แล้ว ... แบบนี้ดี ทำให้เราได้เก็บรายละเอียดอะไรได้อีกเยอะเลย

หัวลำโพง ยังสวยท้าทายการเวลา (แต่แดดก่อนห้าโมงนี่ร้อนจริงๆ)


เข้าถนนเจริญกรุง บางช่วงทางแคบมาก เพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน

คงได้วิ่งในเมือง วิ่งนอกสวนอีกหลายครั้งแน่ๆ เพราะคิดไว้แล้วหลายเส้นทาง แต่ยังไม่มีเวลาไปซะที 


สะพานเหล็ก แยก SAB และคูคลองเก่า

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการวิ่งในเมือง (City Running)
  • การวางแผนเส้นทางวิ่งใน Google Map จะทำให้เรากำหนดเส้นทางหลักๆ ได้ดี มากกว่าการไปตัดสินใจเอาข้างหน้า ใช้เวลาที่หน้าจอให้ดี แล้วตอนวิ่งจะสนุก
  • ก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมเงิน (แบงค์ใหญ่และแบงค์ย่อย และเศษเหรียญ) ต้องไม่ลืมบัตรประชาชน บัตรประกันสุขภาพ และ/หรือ บัตรประกันชีวิต  แล้วถ้าใครมีบัตรเติมเงินของ 7-eleven ก็ควรจะพกติดไปด้วย... ส่วนโทรศัพท์ กะกุญแจบ้านคงไม่ต้องบอกนะ
สวนรมณีนารถ (คุกเก่า)
  • จะให้ดี ควรมีบัตรฉุกเฉิน ที่เราจะให้ข้อมูลของตัวเราเอง ชื่อนามสกุล หมู่เลือด เบอร์ติดต่อกรณีฉุกเฉิน และอื่นๆ ... ลองคิดดูว่าถ้าเราไปเจอคนล้มหมดสติ หรือเป็นลม ช่วยตัวเองไม่ได้ เราจะหาข้อมูลของเค้าได้ยังไง
  • รองท้องก่อนวิ่งสักครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องกินให้อิ่มมาก แต่ถ้าท้องว่างเกินไป จะวิ่งไม่สนุก
บรรยากาศในสวนรมณีนารถ
  • วิ่งในเมือง เราสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ตลอดที่ทุกแยกไฟแดง ... ถ้าจากจุดเริ่มต้นไปจุดหมายมี 5 แยกไฟแดง เราจะมีทางเลือกเป็น 10 เส้นทาง
  • ไม่ควรออกเช้ามากเกินไป ถนนหลายเส้นไฟแสงสว่างน้อยมาก และจะมองพื้นยาก
  • จังหวะข้ามถนน หยุด และรอดูให้แน่ๆ ว่าไม่มีรถที่เหยียบคันเร่งตอนไฟเหลือง หรือแม้แต่แหกไฟแดง
อาคารเก่า โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง คูคลองเมืองเดิม
  • สวมเสื้อแขนสั้น จะกันแดดตอนบ่ายได้ดี หมวก แว่นกันแดด ผ้าเช็ดเหงื่อ ควรมีให้พร้อม เสื้อสีจัดๆ บาดตา หรือมีแถบสะท้อนแสง เหมาะมากกับวิ่งตอนเช้า
  • ถ้าระยะทางไม่มากเกินไป (ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง) ในตอนเย็น ใส่เสื้อกล้ามวิ่งก็ช่วยระบายความร้อนได้ดีกว่าเสื้อแขนสั้น
  • ร้านขายน้ำ (โดยเฉพาะ 7-eleven) มีเต็มเมือง ถือน้ำไปขวดเดียว (500 cc.) ก็พอ และอย่ากินน้ำให้หมดขวด โดยยังไม่เห็นร้านขายน้ำจุดต่อไป ถ้าหิวก็มีอะไรให้กินเยอะเลย (ข้อดีที่มีบัตรเติมเงิน)
สวนสราญรมย์ (ส่วนหนึ่งของพระราชวังสราญรมย์) ประตูทางเข้าสวยงามมาก
  • เป้น้ำ ถ้ามีใช้จะเวิร์คมาก ได้ฝึกสะพายของ และที่เสียบขวดน้ำด้านหน้าใช้งานได้ดีจริงๆ
  • เป้น้ำแบบมีท่อดูด ให้ใส่น้ำ ส่วนเกลือแร่แยกไว้ในขวดของมัน
  • วิ่งบนทางเท้าในกรุงเทพ อารมณ์คงไม่ต่างจากวิ่งเทรลในป่า เพราะแผ่นปูพื้นที่แตกหักมีร่อง ฝาท่อระบายน้ำ ขอบทาง จุดแยก จุดตัดเข้าซอย แยกไฟแดง สะพานลอย ทำให้เราละสายตาจากพื้นไม่ได้
กรมการรักษาดินแดน (สวนเจ้าเชตุ) กระทรงกลาโหม กำแพงพระบรมหาราชวัง และศาลหลักเมือง
  • จากข้อที่แล้ว ถ้าวิ่งผ่านป้ายรถเมล์ช่วงคนมากๆ หรือผ่านตลาด หรือแหล่งขายของ ไม่ต้องคาดหวังเรื่องความเร็ว บอกแล้วว่าวิ่งบนทางเท้าในกรุงเทพ มันแทบทำความเร็วไม่ได้เลย
  • สวนสาธารณะเกือบทุกแห่งในกรุงเทพฯ เราจะวิ่งทวนเข็มนาฬิกา แต่ที่สวนสราญรมณ์ วิ่งตามเข็ม เพราะอยู่ติดวัด เลยถือเคล็ดว่าให้วิ่งย้อนอีกทาง
  • ถนนในกรุงเทพ ไม่ค่อยมีหมา มาวิ่งไล่ อันนี้สบายใจได้ (อย่างน้อยผมก็ยังไม่เคยเจอ)
  • ไม่จำเป็นอย่าใช้หูฟังเพลง หรือเสียบข้างเดียวแล้วเปิดเบาๆ (กรณีเปิด app วิ่ง ที่จะคอยบอกระยะเราด้วย)
พระบรมหาราชวัง สนามหลวง และโรงแรมรัตนโกสินทร์
  • ถ้าจะต้องวิ่งบนถนน (เป็นบางช่วง) ให้เลือกวิ่งสวนกับทิศทางของรถ เพราะเราจะมองเห็นและหลบทัน แต่โดยปกติให้วิ่งบนทางเท้า ถ้าวิ่งตอนบ่ายให้เลือกด้านที่มีตึกบังเงาให้เรา หรือจะเลือกฝั่งที่มีอะไรให้ดูมากกว่าก็ดีเหมือนกัน
  • ถนนบางเส้นจะมีช่องทางจักรยาน ดูให้ดีๆ อย่าไปวิ่งทับช่องทางเค้า เพราะเค้าก็หนีรถขึ้นมาเหมือนกับเรานั่นแหละ แล้วก็ต้องระวังพวกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (หรือแม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์ตำรวจ) ที่จะมาร่วมทางเท้ากับเรา 
  • ยิ้ม และทักทายคนที่เดินสวนมา และโดยเฉพาะนักวิ่งที่เจอระหว่างทาง
  • เส้นทางเดียวกัน แต่คนละเวลา จะให้ภาพชีวิตที่ต่างกัน จงมีความสุขและเก็บเกี่ยวประสบการณ์
  • เจอชาวต่างชาติกางแผนที่แถวแยกไฟแดง ลองหยุดแล้วเสนอความช่วยเหลือ เป็นเจ้าบ้านที่ดี แต่ถ้ามีพวกสามล้อเครื่องหรือไก๊ด์ผีคุยอยู่แล้ว ไม่ควรไปยุ่งจะดีกว่า
  • จะดีมากถ้ามีเพื่อนวิ่งด้วยกัน และดีกว่านั้นถ้าเพื่อนมีความสนใจเหมือนกัน เพราะถ้าจะหยุดเพื่อถ่ายภาพหรือพูดคุย จะไม่ทำให้เพื่อนเสียจังหวะ ถ้าเป็นคนขี้เกรงใจ ก็วิ่งมันคนเดียวละกัน
บางลำพู ถนนข้าวสาร
  • ถ้าอยากได้ภาพสวย ให้พกกล้องตัวเล็กๆ แต่ถ้าต้องการแค่เก็บภาพตามเส้นทาง กล้องหลังของสมาร์ทโฟนเพียงพอแล้ว (ไม่เพิ่มน้ำหนักด้วย)
  • หยุด และถ่ายภาพสิ่งที่เราเห็นว่าสวยและสนใจ ช่วงเวลาต่างกันของวันหรือเดือนปี จะให้ภาพที่ต่างกัน บางอย่างกลับมาถ่ายอีกไม่ได้แล้ว อาจจะไม่มีแล้ว ... สังเกตุด้วยว่ามีป้ายห้ามถ่ายภาพหรือเปล่า ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดีกว่าให้คนมาว่าเราทีหลัง
  • วิ่งในเมือง จะโดนฝุ่นควันเยอะมาก (ตามประสาเมืองกรุงเทพฯ) กลับถึงบ้านอย่างน้อยควรล้างหน้า ดีที่สุดคืออาบน้ำเลยหลังจากพักหายเหนื่อยแล้ว
  • หาผ้าชุมน้ำหมาดๆ เช็ดรองเท้าด้านบน หรือแปรงขัดพื้นและขอบยางรองเท้า จะช่วยรักษาให้รองเท้าวิ่งคู่เก่งอยู่กับเราได้นาน และดูใหม่สวยเสมอ อย่าลืมผึ่งลมให้แห้งก่อนเก็บด้วย แล้วห้ามตากแดด เพราะยางจะเสื่อมสภาพเร็วเกินไป
  • เตือนตัวเองเสมอว่า ต้องปลอดภัยไว้ก่อน อย่าเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยงอันตราย แต่งกายให้มิดชิด (โดยเฉพาะนักวิ่งสาวๆ) เพื่อลดความเสี่ยงอะไรก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้น ... จงอยู่ในสภาวะรับรู้สถานการณ์ตลอดเวลา (situation awareness)

ถ้าใครมีเส้นทางน่าสนใจ ไม่ว่าจะในกรุงเทพ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ จะมาแชร์กันก็ได้ครับ สนุกดี การได้เปลี่ยนที่ซ้อมวิ่ง ทำให้ไม่จำเจ และได้พบเห็นอะไรแปลกใหม่เสมอ การวิ่งไม่จำเป็นต้องไล่ล่าสถิติเวลาเสมอไป การได้วิ่งไปตามถนน ที่ปกติเราเคยแต่ขับรถหรือนั่งรถผ่าน ทำให้เราได้เห็นอะไรมากขึ้นเยอะเลย

ขอขอบคุณเพื่อนๆ น้องๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

Ming Sammer
Surawit Sabuysabuy
Cha Put
สาวน้อย กระป๋องแป้ง 

4 comments:

Run Forlife said...

อ่านเจอว่าเส้นทางแรกผ่านสถาปัตยกรรมสมัย ร.5-ร.6 นี่ตาลุกวาวเลยค่ะ ชอบเหมือนกันแต่คงไม่ถึงขนาดเป็นแฟนพันธุ์แท้แบบพี่มาร์ท

ป้อมเองก็เคยวิ่งอยู่หนนึง เป็นการตระเวณวิ่งไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วกรุงเทพกับเพื่อนๆ ออกตั้งแต่ตี 5 ได้ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นบนภูเขาทองพอดี ประทับใจมากค่ะ

เคยเห็นในเมืองนอกเค้ามี city walking พาเดินชมสถานที่สวยๆงามๆของเมือง ก็หวังว่าซักวันนึงกรุงเทพคงมีแบบเค้าบ้างอะนะ (เมื่อทางเท้ากว้างขวาง ราบเรียบ ไร้แผงลอย รถเข็น ^ ^)

Unknown said...

จำได้ที่ป้อมกับทีมกล้วย ไปวิ่งไหว้พระ 9 วัด .. อย่างที่บอก ทีมนี้มีไอเดียบรรเจิดตลอดเวลาเลย รอติดตามโครงการ แนวคิดใหม่ๆ อยู่เสมอนะครับ (แอบลุ้นรอข่าวไตรกีฬา เวอร์ชั่นเรื่องวิ่งเรื่องกล้วยอยู่)

ถ้าบ้านเรามี city walking ก็ดีนะ จริงๆ มีชมรม พิพิธสยาม จัดเดินชมเมืองอยู่บ้าง แต่อยากให้มีคนสนใจมากกว่านี้ รวมทั้งการวิ่งด้วย ส่วนทางเท้าสะอาดตา ราบเรียบไร้รถเข็น อาจจะต้องฝันไปก่อนแน่เลยพวกเรา

Unknown said...

เดินชมวิว วิ่งดูเมือง
ผมชักมีความเชื่อว่านักวิ่ง มักจะมีความสามารถพิเศษในด้านการเขียน

Unknown said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ สถานที่ชวนเพลิดเพลินดีจัง