Saturday, June 14, 2014

มาวางแผนเส้นทางวิ่ง ด้วย Google Maps กันเถอะ

หลายคนใช้ Google Maps ในชีวิตประจำวันในการหาสถานที่ หรือใช้หาเส้นทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

วันนี้มาลองวางแผนเส้นทางวิ่งด้วย Google Maps กันดูดีมั้ย?

ก่อนอื่นขอแนะนำว่า ควรจะทำงานบน Laptop, PC หรือ Mac เพราะไม่งั้นคงต้องเล็งแผนที่กันจนล้าสายตาแน่ๆ ...​ แต่ก็ไม่ห้ามวางแผนจากสมาร์ทโฟนนะ ^^

เริ่มต้นเราก็เปิดเว็บ Google Maps กันเลย https://www.google.com จากนั้นก็พิมพ์ในช่องค้นหาว่า "กรุงเทพมหานคร" เพื่อมาเริ่มกำหนดเส้นทาง


โจทย์ของเราคือ ขับรถไปจอดที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ตอนเช้าๆ แล้ววิ่งไปเที่ยวสวนสาธารณะต่างๆ ตามนี้

1. สนามหลวง
2. สวนสราญรมณ์
3. สวนรมณีนารถ
4. สวนลุมพินี
5. สวนเบญจกิติ
6. สวนเบญจสิริ
7. สวนนวมินทร์ภิรมย์

(ส่วนใครจะไปสวนหลวง ร.๙ ด้วย ก็ไม่ว่ากัน!!!!)

ลองให้ Google Maps กำหนดเส้นทางให้เราดูซิ

ขั้นตอนง่ายๆ ก็เป็นแบบนี้ครับ

1. ที่ช่องค้นหา คลิกที่เครื่องหมาย "Directions"


2. เราจะสามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางแบบใด ...​ก็ต้องเลือกเครื่องหมาย "คนเดิน" (นอกนั้นมีจักรยาน และเครื่องบินอีกด้วย ถ้าเราเลื่อนเมาส์ไปที่เครื่องหมาย "...")


3. ทีนี้ก็ซูมเข้าไปที่จุดเริ่มต้นของเรา คือที่จอดรถของสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แล้วก็ "คลิก" 1 ครั้ง ก็จะเห็นว่า ทั้งในแผนที่และในกรอบเส้นทาง จะมีรายละเอียดบอกให้เรารู้


4. คลิกเมาส์ที่ช่องถัดไป ที่มีเครื่องหมายสีแดงอยู่ข้างหน้า .. เพื่อพร้อมจะเลือกที่หมายที่สองของเรา ...​นั่นก็คือสนามหลวง นั่นเอง


5. คลิกเมาส์ 1 ครั้ง บนถนนรอบๆ หรือที่กลางสนามหลวงก็ได้ เจ้า Google Maps แสนฉลาด ก็จะเลือกเส้นทางเดินให้เรา พร้อมกับทางเลือกอื่นๆ อาจจะอีก 1 หรือหลายเส้นทาง


6. ถ้าใครอยากรวม การวิ่งรอบวังสวนจิตรดา ในการวิ่งรอบนี้ด้วย ก็จะเห็นว่าเส้นทางนั้นได้ผ่านวังสวนจิตรดาแล้ว แต่สมมุติว่าเราอยากวิ่งตามถนนสามเสน เพื่อไปสนามหลวง  ... ก็ให้เลื่อนเมาส์ไปที่เส้นทางตรงไหนก็ได้ (ที่เป็นจุดไข่ปลาสีฟ้า) แล้วลากไปที่เส้นทางที่เราต้องการ หรือหากเส้นทางเลือก (สีเทา) นั้นตรงกับที่เราต้องการ ก็เพียงแต่คลิกเลือกเส้นทางนั้น (คลิกตรงไหนก็ได้ตามแนวเส้นสีเทา)

ก็จะได้เส้นทางตามที่เราต้องการ


7. เส้นสีฟ้าทึบที่เราเลือก จะกลายเป็นเส้นจุดไข่ปลาสีฟ้า หมายถึงว่ายืนยันแล้วว่าเราต้องการเส้นทางนี้ และ Google Maps ก็จะคำนวณระยะทางให้

เราสามารถกำหนดเส้นทางให้ละเอียดกว่านี้ ด้วยการคลิกที่ตำแหน่งไหนบนเส้นทางจุดไข่ปลาสีฟ้า แล้วลากไปวางที่ถนนที่เราต้องการได้ด้วย และหากต้องการเปลี่ยนใจยกเลิกเส้นทางย่อยที่เราเลือก ก็เพียงไปที่จุดยึด (วงกลมสีขาวขอบเทา ซึ่งจะเห็นได้เมื่อเราคลิกเปลี่ยนเส้นทาง ตามภาพข้างล่าง) แล้วคลิกที่จุดนั้นเพื่อยกเลิก


8. จากนั้นเราก็ขยายภาพบริเวณสนามหลวง เพื่อกำหนดเส้นทางต่อไปยังสวนสราญรมณ์ และสวนรมณีนารถ


9. เหมือนตอนที่เราเริ่มกำหนดเส้นทาง ก็คือเราต้องคลิกเมาส์ที่ช่องค้นหา ที่มีเครื่องหมายสีแดงอยู่ข้างหน้าก่อน ไม่งั้น Google Maps จะคิดว่าเราต้องการเปลี่ยนจุดหมาย ที่เราได้กำหนดไว้แล้ว (ก็คือสนามหลวงนั่นเอง)


10. จากนั้น ก็คลิกไปที่ถนนใกล้ๆ กับสวนสราญรมณ์ โปรแกรมก็จะกำหนดเส้นทางให้เราต่อไป


11. เช่นเดิม เราคลิกเมาส์ที่ช่องค้นหา แล้วเลือกถนนใกล้ๆ กับสวนรมณีนารถ หรือจะคลิกกลางสวนก็ไม่ผิดกติกา


12. จากสวนรมณีนารถ เราก็ย้ายตำแหน่งภาพไปที่สวนลุมพินี คลิกเมาส์ที่ช่องค้นหา แล้วเลือกถนนใกล้ๆ กับสวนลุมพินี โปรแกรม Google Maps ก็จะเลือกถนนเจริญกรุง และถนนพระรามที่ 4 ให้เรา วิ่งกันตรงๆ เลย งานนี้ง่ายไม่ต้องแก้ไขเส้นทาง


13. จากสวนลุมพินี เราเลือกสวนเบญจกิติ คราวนี้จะสังเกตว่า เส้นทางดูแปลกๆ เพราะมันพาเราออกนอกเส้นทางไปนิดนึงซะแล้ว


14. คลิกที่เส้นทางตรงไหนก็ได้ แล้วย้ายไปที่ถนนที่เราต้องการ จากภาพเราจะวิ่งเข้าโรงงานยาสูบจากถนนพระรามที่ 4 เลย ง่ายดี


15. ต่อไปก็เลือกสวนเบญจสิริ บนนถนนสุขุมวิท ...​แล้วจากนั้นก็จะวิ่งยาวล่ะ ให้เราคลิกที่ช่องค้นหาถัดไป แล้วคลิกเลือกสวนนวมินทร์ภิรมย์


16. และสุดท้าย ก็คลิกช่องค้นหาถัดไปแล้วคลิกที่สวนรถไฟ เราก็จะได้เส้นทางครบตามที่ต้องการ


ระยะทางรวมที่ Google Maps กำหนดให้คือ 48 กม. !!!! แต่หากนับระยะทางที่เราวิ่งรอบสวนต่างๆ เข้าไปด้วย ก็คงได้รวมๆ ไม่ต่ำกว่า 60 กม. กันเลย คงใช้เวลาวิ่งกันทั้งวันแน่ๆ 555555

คงพอเห็นภาพกันแล้วว่า การวางแผนเส้นทางวิ่งด้วย Google Maps นั้นไม่ยาก และทำให้เราทราบระยะทางค่อนข้างแม่นยำ ส่วนเวลาที่ใช้ในการวิ่งนั้น ต้องเผื่อไว้ด้วย ยิ่งวิ่งยาวยิ่งต้องเผื่อเวลา เพราะการวิ่งในเมือง เราจะต้องวิ่งด้วยความระมัดระวังมากๆ 

ลองอ่านอีกบันทึกดูครับ 

วิ่งในเมือง...วิ่งนอกสวน


ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ ^^

Wednesday, May 7, 2014

จากมินิมาราธอน ไปฮาล์ฟมาราธอน

บันทึกสำหรับคนที่มีประสบการณ์กับการวิ่งมินิมารอน หรือระยะ 10.5 กม. มาสักพักแล้ว และต้องการท้าทายศักยภาพของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการขยับระยะไปฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. ดูบ้าง

คำว่า "สักพักนึง" ที่บอกไว้ คงไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องวิ่งมาแล้วกี่เดือน หรือกี่รายการ เพราะความถี่ห่าง ความเข้มข้นในการฝึกซ้อม และการวิ่งรายการแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน นักวิ่งหลายคนที่เน้นสุขภาพอาจจะวิ่งมาหลายปีโดยอยู่ที่ระยะมินิมาราธอน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หรือบางคนเพิ่งวิ่งไม่กี่เดือนอยากลองอะไรที่มันท้าทาย ก็ไม่ใช่เรื่องที่บ้าเกินปกติเหมือนกัน


บรรยากาศไม่กี่วินาที ตอนปล่อยตัว (งานอบจ. สิงห์บุรี ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 ปี 2014)
(ภาพจาก Shutterrunning.com)

คราวนี้มาแนะนำการฝึกซ้อมสำหรับการวิ่งฮาล์ฟมาราธอน โดยมีระยะเวลาเตรียมตัว 9 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนนิดๆ ซึ่งถือว่า ไม่โหดเกินไปสำหรับคนที่วิ่งระยะ 10.5 กม. เป็นปกติอยู่แล้ว

ตารางฝึกซ้อม และหลักการ

เราจะไม่วิ่งติดกันทุกวัน แต่จะให้เวลาร่างกายได้ฟื้นตัว กล้ามเนื้อได้พักผ่อน โดยจะวิ่ง 3 วันต่อหนึ่งสัปดาห์


ตารางฝึกซ้อม สำหรับรายการพัทยามาราธอน 2014

วันอังคาร - วิ่งสั้น แต่เราเน้นสปีด ความเร็วเราจะพัฒนาเพราะการซ้อมวันอังคาร

วันพฤหัส - วิ่งเบาๆ แต่เป็นการเก็บระยะ เพิ่มความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด

วันอาทิตย์ - วิ่งระยะไกล เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับการวิ่งทางไกล และใช้เวลาในการวิ่งนานขึ้น นานขึ้น

ถ้าเอาระยะทางไปพลอตกราฟ จะมีช่วงสูงสุดของการฝึก ก่อนรายการจริง 2-3 อาทิตย์ และอาทิตย์ก่อนรายการจะวิ่งน้อยลง 


ตารางฝึกซ้อม สำหรับรายการสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กรุงเทพมาราธอน 2014

และตรงนั้นเรากจะต้องเริ่มสะสมพลังงาน โหลดคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะมื้อเย็นก่อนวิ่งเช้าของวันรุ่งขึ้นในแต่ละวันของการฝึก รวมทั้งการที่เราต้องกินอาหารจำพวกแป้ง เพื่อรองท้องในเช้าวันฝึก "ทุกครั้ง"


คลื่นนักวิ่งกลุ่มกลางๆ ที่จุดปล่อยตัว (งานอบจ. สิงห์บุรี ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 ปี 2014)
(ภาพจาก Shutterrunning.com)

ความเร็ว

ความเร็วในการวิ่งแต่ละวันจะอาจจะต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการพัฒนาฝีเท้าไปพร้อมกับการเพิ่มระยะทางหรือไม่ แต่หากเราพัฒนาความเร็วจากวันอังคารได้ดี ให้ลองใช้ความเร็วนั้นในวันพฤหัส แต่ตอนวิ่งยาววันอาทิตย์ให้ใช้ความเร็วที่เราสามารถจบได้โดยไม่เดิน (ยกเว้นพักกินน้ำ) ถ้ามีนาฬิกาบันทึกระยะทาง หรือเปิด app วิ่งไว้ ก็ไม่ต้องปิดมันหรอก เพราะเราต้องการทราบเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการวิ่งและการหยุดพักหรือหยุดกินน้ำ วิ่งจริงเราไม่เห็นต้องหยุดเวลาซะหน่อย

ทีนี้พอเราฝึกได้ช่วงนึง เราจะรู้ว่า pace ที่เหมาะกับตัวเราคือประมาณไหน วันวิ่งจริง ห้ามวิ่งเร็วเกินกว่าแผนที่ซ้อมเด็ดขาด เพราะเห็นยางแตกเครื่องร้อนดับกันมาเยอะแล้ว (ตะคริว ขาตาย เจอภาวะชนกำแพง หรือหมดแรง)  บรรยากาศวันจริงทำให้เราฮึกเหิมอยากปล่อยพลัง ลืมไปว่าที่เราซ้อมมานั้น ไม่ใช่ระยะเต็ม เลยลืมเผื่อแรงเอาไว้

การวอร์มอัพ ยืดเหยียด คูลดาวน์

หลักการคือ วอร์มอัพ-ยืดเหยียด-วิ่ง-คูลดาวน์ ยืดเหยียด

จ๊อก - Jogging การวิ่งช้ามากๆ ระยะทางราวๆ 1 กม. (1.5-2 กม. ถ้าอากาศเย็น) หรือเวลาประมาณ 10 นาที (15 นาทีถ้าอากาศเย็น) ให้ร่างกายอุ่น กล้ามเนื้ออุ่นและพร้อมสำหรับการยืดเหยียด

ยืดเหยียด - เริ่มจากคอ แขน เอว หลัง ต้นขา น่อง ข้อเท้า กล้ามเนื้อมัดเล็กไปมัดใหญ่

การจ๊อกหรือเดินเร็วหลังวิ่งเป็นสิ่งจำเป็น ปกติวิ่งรายการคนจะข้ามส่วนนี้ ดังนั้นการเดินเร็ว หรือไม่หยุดกับที่ก็ถือว่าใช้ได้ อย่างน้อยให้ร่างกายได้ค่อยๆ ปรับอุณหภูมิ และต้องยืดเหยียดทุกครั้ง โดยเฉพาะร่างกายท่อนล่าง


บรรยากาศบนเส้นทางวิ่ง เสน่ห์ของการวิ่งต่างจังหวัด (งานอบจ. สิงห์บุรี ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 ปี 2014)
(ภาพจาก patrunning.com)

แนะนำอาหารเช้าก่อนการวิ่ง

การกิน คือส่วนสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่นักวิ่งจะต้องฝึกให้ชิน เพราะการตื่นนอนเช้ากว่าปกติ แล้วต้องพยายามกินให้อิ่มนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะร่างกายของเรายังไม่ต้องการอาหาร แต่จริงๆ แล้ว เรากินเพื่อพลังงานในตอนวิ่งนั่นเอง หลักง่ายๆ ที่ผมใช้ตอนซ้อม และวันจริงคือ

ซ้อมวิ่ง 5 กม. อาจจะกินแค่ขนมปังโฮลวีท ทาเนยถั่ว 2 แผ่น กาแฟแก้วนึง นมแก้วนึง (หรือมูสลี่+นม+กล้วยหอม 1 ถ้วยเล็ก) 

ซ้อมวิ่งหรือวิ่งรายการระยะทาง 10 กม. ขนมปังโฮลวีท ทาเนยถั่ว 3 แผ่น กาแฟแก้วนึง นมแก้วนึง กล้วยหอมลูกนึง (หรือมูสลี่+นม+กล้วยหอม 1 ถ้วยกลางๆ หรือบ๊ะจ่าง 1 ลูก)

ซ้อมวิ่งหรือวิ่งรายการระยะฮาล์ฟมาราธอน จนถึงการซ้อมวิ่งระยะทาง 35 กม.  ขนมปังโฮลวีท ทาเนยถั่ว 3 แผ่น กาแฟแก้วนึง นมแก้วนึง กล้วยหอมลูกนึง (หรือมูสลี่+นม+กล้วยหอม 1 ถ้วยใหญ่ หริอสปาเกตตี้คาโบนาร่าที่ขายเป็นแพ็ค) กินให้เสร็จก่อนวิ่งราว 1 ชั่วโมง

วิ่งมาราธอน ผมกินเหมือนกับระยะฮาล์ฟมาราธอน


มูสลี่กับกล้วยหอมและนม ให้พลังงานได้ดี และรสชาติไม่เลว

ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวสำหรับหลักการกิน แต่กฏเหล็กคือต้องกินให้อิ่มพอ และคาร์โบไฮเดรตคือธาตุอาหารที่สำคัญ ถ้ากินนมมากจนอิ่มจนกินอาหารหลักไม่ลง ในช่วงท้ายๆ เราจะได้เรียนรู้อาการหมดแรงได้ไม่ยากเลย


บรรยากาศบนเส้นทางวิ่ง ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นในสถานที่ต่างกัน (เพราะฮาล์ฟมาราธอนจะปล่อยตัวก่อนสว่างเสมอ)
(งานอบจ. สิงห์บุรี ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 ปี 2014)
เจลให้พลังงาน ... จำเป็นมั้ย?

เหมือนจะถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักวิ่งระยะไกล แต่ผมคิดว่าในการฝึก เราอาจไม่จำเป็นต้องกินเจล อาจจะกินเกเตอเรตหรือสปอนเซอร์ ขวดเดียวก็พอสำหรับระยะ น้อยกว่า 20 กม. (กินที่ระยะ 12-15 กม.) แล้วแต่สภาพร่างกายก่อนการเริ่มซ้อม

ในการวิ่งจริง อาจจะเตรียมไปสัก 1-2 ซองก็ได้ เผื่อไว้ก่อนก็ดีเหมือนกัน

แต่เมื่อร่างกายเราแข็งแกร่งขึ้น พักผ่อนเพียงพอ และกินอาหารโหลดคาร์บเพียงพอ บางครั้งเจลให้พลังงานอาจจะไม่จะเป็นเลยด้วยซ้ำ

แนะนำบันทึกที่น่าอ่านเพิ่มเติม


แนะนำให้อ่านบันทึกเรื่อง เตรียมตัวดี ...​วิ่งอย่างมีความสุข เพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดของการเตรียมตัวที่ดีก่อนการวิ่ง สำหรับการวิ่งทุกระยะ

วิ่งจบรับเหรียญ เก็บไว้ภูมิใจกับผลงาน และได้เจอบรรยากาศ สถานที่ ผู้คน
(งานอบจ. สิงห์บุรี ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 ปี 2014)


เย้... ผ่านฮาล์ฟแรกแล้ว แล้วทีนี้ยังไงต่อ?

พอผ่านฮาล์ฟจากตารางซ้อมนี้ไปได้ ฮาล์ฟครั้งต่อๆ ไปจะไม่ยาก การเตรียมตัว วินัยอื่นๆ ก็คงทำให้เหมือนเดิม อย่าประมาทหรือคิดว่าทำได้แล้วครั้งต่อไปก็ไม่ต้องเตรียมตัวมาก แบบนั้นผลออกมาจะไม่ดี

ทีนี้ คนที่ผ่านฮาล์ฟมาราธอนได้ ก็จะเริ่มมองไปที่ระยะเต็มมาราธอนกันล่ะ

ถ้าถามผม ให้เปรียยเทียบฮาล์ฟมาราธอนกับเต็มมาราธอนแล้ว มันต่างกันลิบลับ เพราะมาราธอนต้องใช้ทั้งกายและใจ โดยเฉพาะหลัง 35 กม.ไปแล้ว คนที่ถอดใจมีเยอะมาก เพราะร่างกายมันเหนื่อยจนสุดจะทนได้อีกต่อไป เราจะเห็นคนนั่งกับพื้นดิน กับถนน ขอบทาง เพราะตะคริว เห็นคนอยู่ที่จุดให้น้ำแล้วยืนบื้อไม่ออกวิ่ง หรือบางคนเอาน้ำเย็นราดขา ราดทั้งตัว เพื่อให้ไปต่อไป ที่ระยะท้ายๆ มันคือความมันส์ที่สุดที่เราจะเจอในการวิ่งมาราธอน ที่ถ้าใครไม่วิ่งจะไม่มีวันได้เจอ เราไม่นับพวกที่มีทักษะทางกีฬาสูง มีต้นทุนทางกีฬาสูงนะ อันนี้วัดจากคนทั่วๆ ไปที่หันมาออกกำลังกาย

แต่โดยพื้นฐานแล้ว การฝึกฮาล์ฟตามตารางที่ให้ กับตารางฝึกมาราธอน ก็ไม่ได้ต่างกันหรอก แต่ความเข้มข้น ความทุ่มเทมันต้องเพิ่มขึ้นมาก เชื่อเถอะว่าถ้าเราฝึกตารางนี้ได้ ตารางมาราธอนมันก็ไม่ยากเกินไปหรอก

ที่เค้าบอกว่าชีวิตเราเปลี่ยนตั้งแต่ตัดสินใจลงวิ่งมาราธอนเป็นเรื่องจริง เพราะช่วงฝึกหนัก ต้องตื่นตี 3 กว่า เพื่อกิน แล้วรีบมาซ้อม เพื่อเริ่มวอร์มยืดเหยียดตอนตี 4 ครึ่ง และวิ่งจบตอน 8 โมงนั้น มันไม่ง่ายเลยหากไม่มีวินัยและความทุ่มเท

หลายคนฝึกระยะไม่ถึง เพราะไม่มีเวลาหรือคิดว่าเพียงพอ  ผ่านไปหลายมาราธอนก็ยังเจอปัญหาเดิมคือ ภาวะชนกำแพง หรือไม่สามารถทำเวลาได้อย่างที่ตัวเองต้องการ

ทางเดียวที่จะจบได้อย่างสวยงาม คือซ้อม และซ้อม เท่านั้นเอง  ... นี่ทำให้ผมยังเขียนบล็อกบันทึกจอมบึงมาราธอนไม่จบซะที เพราะผมซ้อมมาดีและวิ่งตามแผนอย่างเคร่งดครัด จนไม่เจออะไรหนักๆ มาเขียนเล่ากันน่ะ

.... เอาฮาล์ฟมาราธอนให้จบแบบสวยๆ ก่อน ถ้ามีความตั้งใจจริง มาราธอนรอเราอยู่ข้างหน้าเสมอ



หน้าระรื่นก่อนเช้าเส้นชัย ... ทุกคนทำได้หากตั้งใจ
(งานอบจ. สิงห์บุรี ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 ปี 2014)

Tuesday, April 29, 2014

เย็นวันเสาร์ – เช้าวันอาทิตย์

บันทึกของนักวิ่งและนักเดินทาง ที่เรียนตัวเองว่า นักวิ่งทาง โดยคามิน คมนีย์ ... สารคดีรางวัลยอดเยี่ยม นายอินทร์อะวอร์ด 2547



ก่อนนั้นเคยพยายามหาแหล่งซื้อหนังสือมือสองอยู่หลายเดือน จนแล้วจนรอดหาไม่ได้ แต่แล้วในที่สุดหนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 2 และผมไม่รีรอที่จะสั่งซื้อล่วงหน้า ... พร้อมลายเซ็น

หนังสือมาถึงมือช่วงกลางเดือนมีนาคม แต่ยังอยู่ในซองพลาสติกจนเกือบจบเดือนเมษายน พอได้มาจริงๆ กลับรออีกเดือนเศษถึงจะได้พลิกหน้าแรก


ปกหน้าและปกหลัง


ใช้เวลาช่วงว่าง พักกลางวัน บนรถประจำทาง ในรถไฟฟ้า และหลังวิ่ง รวมทั้งอ่านเป็นหนังสือก่อนอนให้ลูกฟัง ซึ่งคงต้องเริ่มอ่านใหม่แต่ต้นอีกครั้ง ท่าทางเจ้าตัวเล็กจะชอบ คงเพราะคล้ายประสบการณ์ที่ผมก็ไปวิ่งหลายๆ งานในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะไม่เดินทางไปทุกภาคอย่างผู้เขียน นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่หนังสือเล่มนี้ถูกใช้เป็นหนังสือก่อนนอนสำหรับเด็กอายุเกือบ 10 ปี ก็ได้มั้ง

ชื่อหนังสือ สื่อถึงสิ่งที่ผู้เขียนเคยทำในช่วงปี 2546 คือการตะเวณเดินทางไปทุกภาคของไทย เพื่อร่วมรายการวิ่ง เย็นวันเสาร์ สำหรับนักวิ่งแล้วมันคือเย็นที่จะต้องเตรียมตัวและใจให้พร้อม และควรจะไปถึงหรือใกล้สถานที่วิ่ง สำหรับการวิ่งในรุ่งเช้าของวันอาทิตย์

นักวิ่งเตรียมพร้อมร่างกายก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นในตอนเช้ามืด

น่าจะถือว่านักวิ่งคือกลุ่มคนที่โชคดีกลุ่มหนึ่งบนโลกใบนี้ ที่ได้มีโอกาสเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากสถานที่ต่างกัน ได้สัมผัสอากาศเช้า เสียงนกออกหากิน เสียงจักจั่นปลายฤดูร้อน เสียงจิ้งหรีดริมทาง สิ่งที่ยากนักที่จะได้รับรู้ธรรมชาติเหล่านี้ หากไม่ได้เป็นคนตื่นเช้า และยังได้เรียนรู้ถึงคำว่าการเดินทาง ในอีกความหมายของนักวิ่ง ที่มีวิถีเรียบง่ายทั้งการกินอยู่ คล้ายเป็นการจาริกของผู้แสวงบุญ แอบคิดว่าสักวันจะลองสะพายเป้ใบเล็กๆ เดินทางแบบนั้นดูบ้างสักปีละครั้งสองครั้ง คงได้ซึมซาบความรู้สึกได้ดีขึ้น

ภาพดวงอาทิตย์ขึ้น ไม่เคยซ้ำสถานที่ สร้างความประทับใจเสมอ

จุดกลับตัวที่ครึ่งทาง

ผ่านไปวันกว่าๆ ก็อ่านจบ บอกตัวเองว่า หนังสือขนาด 232 หน้าเล่มนี้ เป็นงานเขียนที่น่าอ่านหลายๆ รอบ ชอบคำโปรยจากนักวิ่งระดับโลกที่เริ่มแต่ละบท แต่ที่ขอบกว่าคือการใช้คำสละสลวยคล้องจอง ที่ไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป แถมมีจุดหักมุมเล็กๆ ในบทที่คิดว่าน่าจะเป็นการสรุปเมื่อผู้เขียนวิ่งได้ครบหนึ่งปีพอดี พร้อมกับข้อคิดต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ และหลายอย่างน่าจะดีสำหรับนักวิ่งที่มีประสบการณ์แล้ว แต่สิ่งที่หวังกว่านั้นคือ หนังสือเล่มนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ไม่เคยวิ่ง ได้หันมาลองออกกำลังกายด้วยการวิ่ง มาลองดูว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตเราได้จริงหรือเปล่า

บรรยากาศการมอบเหรียญหลังจบการแข่งขัน

นักวิ่งมีความคิดความรู้สึกหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน ความมุมานะตั้งใจ การตั้งเป้าหมายแล้วพยายามฝึกตนเพื่อไปให้ถึง ความเหนื่อยล้า ความเบื่อหน่าย การบาดเจ็บ ผมเองก็เคยไปงานวิ่ง แต่ไม่ได้วิ่งมาแล้ว 2 ครั้ง (เพราะอาการบาดเจ็บ) เคยเจ็บจนต้องเดินเกือบครึ่งระยะทางของการแข่งขันมาแล้ว ถูกคนที่เราเคยแซง แซงผ่านเราจนเหลือเกือบเป็นคนสุดท้ายมาแล้ว มันไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้ แต่มันเพียงเป็นการเข้าเส้นชัยหลังคนอื่น และเพิ่มเวลาให้เราได้มองทิวทัศน์สองข้างทางนานขึ้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น คือประสบการณ์ที่น่าจดจำ


ตัวอย่างจากหนังสือ

นักวิ่งทุกคนคือผู้ชนะ เมื่อวิ่งผ่านเส้นชัย เพราะตลอดระยะทางการแข่งขัน ไม่มีใครช่วยเรานอกจากตัวเอง ด้วยแรงขา แรงกายใจของเราเอง กำลังใจจากเพื่อนร่วมเส้นทางสำคัญเสมอ และแม้จะเข้าเส้นชัยคนสุดท้าย ก็ยังเป็นผู้ชนะอยู่ดี ชัยชนะที่ไม่มีใครมาแย่งไปจากเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงรายการวิ่งระดับท้องถิ่น หรือรายการระดับประเทศก็ตาม

แนะนำหนังสือเล่มนี้อีกแรงครับ

หมายเหตุ: ภาพประกอบ (นอกจากหนังสือ) มาจากงาน อบจ.สิงห์บุรี ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 20 วันที่ 27 เมษายน 2557

Monday, March 31, 2014

วิ่งในเมือง...วิ่งนอกสวน

บทเริ่ม... ทำไมต้องวิ่งในเมือง

จากที่เคยเดินเล่นตามถนนเส้นเก่าเพื่อดูบ้านเรือน และชุมชนเก่าริมแม่น้ำ ก็ได้ฤกษ์วิ่งในเมืองกันดูบ้าง หลังจากที่คิดไว้นานแล้ว เพราะได้ทั้งการออกกำลังกาย และได้ชมตลาด ชมวัด ชมสวน หรืออะไรก็ตามที่เราสนใจ แล้วใครที่เป็นนักชิม ก็คงได้หาอะไรอร่อยๆ กินตามเส้นทางไปด้วย

หลังใช้เวลาพักฟื้นรอจนอาการเจ็บหน้าแข้งหายเกือบเป็นปกติ และที่สำคัญคือ สวนลุมพินี ที่เป็นสนามซ้อม ยังมีผู้ชุมนุม มีกิจกรรมต่างๆ เยอะมาก ทำให้หลีกเลี่ยงกลิ่นจากรถส้วมกทม. กลิ่นบุหรี่ หรือบรรยากาศอื่นๆ ได้ยาก (แต่ก็ยังไปปั่นจักรยานตอนเที่ยงๆ อยู่นะ) ก็เป็นช่วงที่อยากลองวิ่งตามเส้นทางที่คิดไว้

มั่นใจว่า เพื่อนๆ หลายคนอาจจะวิ่งในเมืองมานานแล้ว เพราะว่าบ้านอยู่ไกลสวนสาธารณะที่มีทางวิ่ง แต่หลายคนก็วิ่งในสวนจนเบื่อ ก็ต้องหาอะไรที่แตกต่างทำดูบ้าง 


สวนลุมบางช่วง ยังสงบ และสวยงาม รอนักวิ่งกลับมาเยือน ปลายมีนา ดอกนนทรี กับดอกประดู่ บานสวย มีเสียงจั๊กจั่นให้ฟังด้วย

เส้นทางแรก

และเพราะเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้กลับถึงบ้านไม่เย็นเกินไป ก็เลยลองวิ่งใกล้ๆ บ้านดูก่อน มาลองดูเส้นทางวิ่งครั้งแรกกัน

ออกวิ่งจากคอนโดริมสะพานซังฮี้ ไปวนบนสะพาน 1 รอบ (ขาไปวิ่งฝั่งนึง ขากลับวิ่งอีกฝั่งนึง) แล้ววิ่งเลี้ยวซ้ายไปตามถนนขาว วกเข้าไปดูริมน้ำตรงชุมชนสุดถนนสุโขทัย แล้ววิ่งย้อนตามถนนสุโขทัยไปจนถึงถนนราชสีมา วิ่งตามถนนราชสีมาจนข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปถึงถนนประชาธิปไตย จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนวิสุทธิกษัตริย์ ไปขึ้นสะพานพระราม 8 แล้วไปวิ่งรอบสวนสาธารณะสะพานพระราม 8 ก่อนจะวิ่งกลับข้ามสะพานอีกฝั่งนึง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสามเสน แวะเข้าไปท่าน้ำเทเวศน์ ต่อด้วยท่าน้ำวัดเทวราชกุญชร ท่าวาสุกรี แล้วไปเลี้ยวซ้ายที่แยกซังฮี้เข้าถนนราชวิถี รวมระยะทาง 13 กม. ด้วยเส้นทางนี้ ผมผ่านวังเก่า ตำหนักเก่า บ้านโบราณ ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เกือบ 20 แห่ง (ผมชอบสถาปัตยกรรมยุคนั้นมากๆ)


เส้นทางที่กำหนดเองได้ ปรับเปลี่ยนได้ เราเลือกเอง

โจทย์ที่คิดในใจคือ วิ่งสองสะพาน ซังฮี้ กับพระราม 8) แต่เส้นทางนั้น มันเกิดขึ้นเองหลังจากออกไปวิ่ง สังเกตุว่า ถ้าเราจะวิ่งแค่ 5 กม. ก็ทำได้เพราะระยะทางระหว่างสองสะพานนี้ไม่ไกลกัน ก็ถือว่าเป็นข้อดีของการวิ่งในเมือง วิ่งคนเดียว


ภาพจากสะพานพระราม 8

เส้นทางต่อไป

อีกไม่กี่วัน ลองเปลี่ยนเส้นทาง แต่เริ่มที่สะพานซังฮี้เหมือนกัน คราวนี้ไปทางลานพระบรมรูปทรงม้า และรอบวังสวนจิตรดาบ้าง


ระยะทางรวมเกือบ 10 กม.

อาจจะเป็นโชคดี ที่พักอยู่ในบริเวณที่มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง (แต่เวลามีม๊อบมีประท้วง ก็โดนไปเต็มๆ) ทำให้สามารถกำหนดเส้นทางวิ่งได้หลากหลาย แล้วแต่ว่าอยากจะดูอะไร


สะพานซังฮี้ช่วงเย็น กับทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา

การเริ่มวิ่งตั้งแต่ 4 โมงหรือ 5 โมงเย็น อาจจะร้อนสำหรับหลายๆ คน แต่การเริ่มต้นวิ่งเร็ว ก็หมายความว่าเราจะไปได้ไกลขึ้น เลือกเส้นทางได้มากขึ้นด้วย ถ้าวางแผนดีๆ จะไปชมพระอาทิตย์ตกที่สะพานไหนสักแห่งก็ไม่ผิดกติกา

ลานพระบรมรูปทรงม้า วัดเบญจมบพิตร และภาพแม่น้ำเจ้าพระยา

วิ่งไป-กลับ ที่ทำงาน

หลังจากที่วิ่งตอนเย็นไปได้หลายครั้ง ก็อยากลองวิ่งไปทำงานดูบ้าง เพราะระยะทางจากที่พักไปที่ทำงานถ้าขับรถ ก็ราวๆ 9 กม. เท่านั้นเอง ถ้าวิ่งน่าจะสั้นกว่านั้น เพราะสามารถตัดเส้นทางไปได้เรื่อยๆ ไม่ติดการเดินรถทางเดียว

แน่นอนว่าการศึกษาเส้นทางวิ่ง เลือกถนนที่จะใช้ และเวลาที่จะออกจากที่พัก กับความเร็วที่เราสามารถทำได้ มีส่วนกับเวลาที่จะใช้โดยตรง คืนก่อนออกวิ่งผมวางแผนโดยใช้ Google Map เพราะใช้งานง่ายและให้ข้อมูลมากพอ


ออกจากที่พักเกือบ 6 โมง ระยะทางวิ่งจริง 7.58 กม. ใช้เวลาประมาณ 55 นาที

ตอนเช้า เริ่มวิ่งตั้งแต่ยังไม่สว่าง (เพราะเข้างาน 7 โมง) มาถึงที่ทำงาน ทันได้อาบน้ำซักชุดวิ่ง ส่วนตอนเย็นเรามีเวลาวางแผนเส้นทางมากขึ้น ก็เลยกะว่าจะออกจากแถวๆ สวนลุม แล้วไปทางหัวลำโพง เข้าถนนเจริญกรุง ไปวิ่งในสวนรมณีนารถ ต่อด้วยสวนสราญรมณ์ สนามหลวง แล้วค่อยไปทางบางลำภู เข้าถนนสามเสนกลับที่พัก


 ระยะทางเกือบ 13 กม. ช่วงแรกร้อน แต่โดยรวมสนุกมาก

พอวางเส้นทางวิ่งในกรุงเทพชั้นใน จะเห็นว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โตแบบเมืองหลวงขนาด mega city ทั่วไป เพราะวันที่วิ่งมาทำงาน แล้ววิ่งกลับ มันก็แทบจะเป็นวงกลมอยู่แล้ว ... แบบนี้ดี ทำให้เราได้เก็บรายละเอียดอะไรได้อีกเยอะเลย

หัวลำโพง ยังสวยท้าทายการเวลา (แต่แดดก่อนห้าโมงนี่ร้อนจริงๆ)


เข้าถนนเจริญกรุง บางช่วงทางแคบมาก เพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน

คงได้วิ่งในเมือง วิ่งนอกสวนอีกหลายครั้งแน่ๆ เพราะคิดไว้แล้วหลายเส้นทาง แต่ยังไม่มีเวลาไปซะที 


สะพานเหล็ก แยก SAB และคูคลองเก่า

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการวิ่งในเมือง (City Running)
  • การวางแผนเส้นทางวิ่งใน Google Map จะทำให้เรากำหนดเส้นทางหลักๆ ได้ดี มากกว่าการไปตัดสินใจเอาข้างหน้า ใช้เวลาที่หน้าจอให้ดี แล้วตอนวิ่งจะสนุก
  • ก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมเงิน (แบงค์ใหญ่และแบงค์ย่อย และเศษเหรียญ) ต้องไม่ลืมบัตรประชาชน บัตรประกันสุขภาพ และ/หรือ บัตรประกันชีวิต  แล้วถ้าใครมีบัตรเติมเงินของ 7-eleven ก็ควรจะพกติดไปด้วย... ส่วนโทรศัพท์ กะกุญแจบ้านคงไม่ต้องบอกนะ
สวนรมณีนารถ (คุกเก่า)
  • จะให้ดี ควรมีบัตรฉุกเฉิน ที่เราจะให้ข้อมูลของตัวเราเอง ชื่อนามสกุล หมู่เลือด เบอร์ติดต่อกรณีฉุกเฉิน และอื่นๆ ... ลองคิดดูว่าถ้าเราไปเจอคนล้มหมดสติ หรือเป็นลม ช่วยตัวเองไม่ได้ เราจะหาข้อมูลของเค้าได้ยังไง
  • รองท้องก่อนวิ่งสักครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องกินให้อิ่มมาก แต่ถ้าท้องว่างเกินไป จะวิ่งไม่สนุก
บรรยากาศในสวนรมณีนารถ
  • วิ่งในเมือง เราสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ตลอดที่ทุกแยกไฟแดง ... ถ้าจากจุดเริ่มต้นไปจุดหมายมี 5 แยกไฟแดง เราจะมีทางเลือกเป็น 10 เส้นทาง
  • ไม่ควรออกเช้ามากเกินไป ถนนหลายเส้นไฟแสงสว่างน้อยมาก และจะมองพื้นยาก
  • จังหวะข้ามถนน หยุด และรอดูให้แน่ๆ ว่าไม่มีรถที่เหยียบคันเร่งตอนไฟเหลือง หรือแม้แต่แหกไฟแดง
อาคารเก่า โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง คูคลองเมืองเดิม
  • สวมเสื้อแขนสั้น จะกันแดดตอนบ่ายได้ดี หมวก แว่นกันแดด ผ้าเช็ดเหงื่อ ควรมีให้พร้อม เสื้อสีจัดๆ บาดตา หรือมีแถบสะท้อนแสง เหมาะมากกับวิ่งตอนเช้า
  • ถ้าระยะทางไม่มากเกินไป (ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง) ในตอนเย็น ใส่เสื้อกล้ามวิ่งก็ช่วยระบายความร้อนได้ดีกว่าเสื้อแขนสั้น
  • ร้านขายน้ำ (โดยเฉพาะ 7-eleven) มีเต็มเมือง ถือน้ำไปขวดเดียว (500 cc.) ก็พอ และอย่ากินน้ำให้หมดขวด โดยยังไม่เห็นร้านขายน้ำจุดต่อไป ถ้าหิวก็มีอะไรให้กินเยอะเลย (ข้อดีที่มีบัตรเติมเงิน)
สวนสราญรมย์ (ส่วนหนึ่งของพระราชวังสราญรมย์) ประตูทางเข้าสวยงามมาก
  • เป้น้ำ ถ้ามีใช้จะเวิร์คมาก ได้ฝึกสะพายของ และที่เสียบขวดน้ำด้านหน้าใช้งานได้ดีจริงๆ
  • เป้น้ำแบบมีท่อดูด ให้ใส่น้ำ ส่วนเกลือแร่แยกไว้ในขวดของมัน
  • วิ่งบนทางเท้าในกรุงเทพ อารมณ์คงไม่ต่างจากวิ่งเทรลในป่า เพราะแผ่นปูพื้นที่แตกหักมีร่อง ฝาท่อระบายน้ำ ขอบทาง จุดแยก จุดตัดเข้าซอย แยกไฟแดง สะพานลอย ทำให้เราละสายตาจากพื้นไม่ได้
กรมการรักษาดินแดน (สวนเจ้าเชตุ) กระทรงกลาโหม กำแพงพระบรมหาราชวัง และศาลหลักเมือง
  • จากข้อที่แล้ว ถ้าวิ่งผ่านป้ายรถเมล์ช่วงคนมากๆ หรือผ่านตลาด หรือแหล่งขายของ ไม่ต้องคาดหวังเรื่องความเร็ว บอกแล้วว่าวิ่งบนทางเท้าในกรุงเทพ มันแทบทำความเร็วไม่ได้เลย
  • สวนสาธารณะเกือบทุกแห่งในกรุงเทพฯ เราจะวิ่งทวนเข็มนาฬิกา แต่ที่สวนสราญรมณ์ วิ่งตามเข็ม เพราะอยู่ติดวัด เลยถือเคล็ดว่าให้วิ่งย้อนอีกทาง
  • ถนนในกรุงเทพ ไม่ค่อยมีหมา มาวิ่งไล่ อันนี้สบายใจได้ (อย่างน้อยผมก็ยังไม่เคยเจอ)
  • ไม่จำเป็นอย่าใช้หูฟังเพลง หรือเสียบข้างเดียวแล้วเปิดเบาๆ (กรณีเปิด app วิ่ง ที่จะคอยบอกระยะเราด้วย)
พระบรมหาราชวัง สนามหลวง และโรงแรมรัตนโกสินทร์
  • ถ้าจะต้องวิ่งบนถนน (เป็นบางช่วง) ให้เลือกวิ่งสวนกับทิศทางของรถ เพราะเราจะมองเห็นและหลบทัน แต่โดยปกติให้วิ่งบนทางเท้า ถ้าวิ่งตอนบ่ายให้เลือกด้านที่มีตึกบังเงาให้เรา หรือจะเลือกฝั่งที่มีอะไรให้ดูมากกว่าก็ดีเหมือนกัน
  • ถนนบางเส้นจะมีช่องทางจักรยาน ดูให้ดีๆ อย่าไปวิ่งทับช่องทางเค้า เพราะเค้าก็หนีรถขึ้นมาเหมือนกับเรานั่นแหละ แล้วก็ต้องระวังพวกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (หรือแม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์ตำรวจ) ที่จะมาร่วมทางเท้ากับเรา 
  • ยิ้ม และทักทายคนที่เดินสวนมา และโดยเฉพาะนักวิ่งที่เจอระหว่างทาง
  • เส้นทางเดียวกัน แต่คนละเวลา จะให้ภาพชีวิตที่ต่างกัน จงมีความสุขและเก็บเกี่ยวประสบการณ์
  • เจอชาวต่างชาติกางแผนที่แถวแยกไฟแดง ลองหยุดแล้วเสนอความช่วยเหลือ เป็นเจ้าบ้านที่ดี แต่ถ้ามีพวกสามล้อเครื่องหรือไก๊ด์ผีคุยอยู่แล้ว ไม่ควรไปยุ่งจะดีกว่า
  • จะดีมากถ้ามีเพื่อนวิ่งด้วยกัน และดีกว่านั้นถ้าเพื่อนมีความสนใจเหมือนกัน เพราะถ้าจะหยุดเพื่อถ่ายภาพหรือพูดคุย จะไม่ทำให้เพื่อนเสียจังหวะ ถ้าเป็นคนขี้เกรงใจ ก็วิ่งมันคนเดียวละกัน
บางลำพู ถนนข้าวสาร
  • ถ้าอยากได้ภาพสวย ให้พกกล้องตัวเล็กๆ แต่ถ้าต้องการแค่เก็บภาพตามเส้นทาง กล้องหลังของสมาร์ทโฟนเพียงพอแล้ว (ไม่เพิ่มน้ำหนักด้วย)
  • หยุด และถ่ายภาพสิ่งที่เราเห็นว่าสวยและสนใจ ช่วงเวลาต่างกันของวันหรือเดือนปี จะให้ภาพที่ต่างกัน บางอย่างกลับมาถ่ายอีกไม่ได้แล้ว อาจจะไม่มีแล้ว ... สังเกตุด้วยว่ามีป้ายห้ามถ่ายภาพหรือเปล่า ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดีกว่าให้คนมาว่าเราทีหลัง
  • วิ่งในเมือง จะโดนฝุ่นควันเยอะมาก (ตามประสาเมืองกรุงเทพฯ) กลับถึงบ้านอย่างน้อยควรล้างหน้า ดีที่สุดคืออาบน้ำเลยหลังจากพักหายเหนื่อยแล้ว
  • หาผ้าชุมน้ำหมาดๆ เช็ดรองเท้าด้านบน หรือแปรงขัดพื้นและขอบยางรองเท้า จะช่วยรักษาให้รองเท้าวิ่งคู่เก่งอยู่กับเราได้นาน และดูใหม่สวยเสมอ อย่าลืมผึ่งลมให้แห้งก่อนเก็บด้วย แล้วห้ามตากแดด เพราะยางจะเสื่อมสภาพเร็วเกินไป
  • เตือนตัวเองเสมอว่า ต้องปลอดภัยไว้ก่อน อย่าเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยงอันตราย แต่งกายให้มิดชิด (โดยเฉพาะนักวิ่งสาวๆ) เพื่อลดความเสี่ยงอะไรก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้น ... จงอยู่ในสภาวะรับรู้สถานการณ์ตลอดเวลา (situation awareness)

ถ้าใครมีเส้นทางน่าสนใจ ไม่ว่าจะในกรุงเทพ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ จะมาแชร์กันก็ได้ครับ สนุกดี การได้เปลี่ยนที่ซ้อมวิ่ง ทำให้ไม่จำเจ และได้พบเห็นอะไรแปลกใหม่เสมอ การวิ่งไม่จำเป็นต้องไล่ล่าสถิติเวลาเสมอไป การได้วิ่งไปตามถนน ที่ปกติเราเคยแต่ขับรถหรือนั่งรถผ่าน ทำให้เราได้เห็นอะไรมากขึ้นเยอะเลย

ขอขอบคุณเพื่อนๆ น้องๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

Ming Sammer
Surawit Sabuysabuy
Cha Put
สาวน้อย กระป๋องแป้ง