นักวิ่งขาประจำอาจจะรู้จักรองเท้ายี่ห้อนี้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ ที่เพิ่งเคยใช้รองเท้าวิ่งจริงๆ มาไม่กี่คู่อย่างผม ผมว่า Brooks นั้นเป็นเป็นยี่ห้อที่ไม่ค่อยคุ้นหู หากเมื่อเทียบกับยี่ห้อที่เราคุ้นๆ หูและนิยมใช้กันในเมืองไทย
พบกันครั้งแรก
ผมรู้จัก Brooks PureProject จริงๆ ครั้งแรก ตอนที่ไปทดสอบการลงเท้า ที่โชว์รูม Brooks (บางขุนนนท์) เพื่อทดสอบจังหวะการวิ่ง (Gait Analysis) และก่อนหน้านั้นน้องๆ ในกลุ่มวิ่งซื้อรองเท้ายี่ห้อนี้กันบ้างแล้ว ดูจากดีไซน์มันสวยดี แต่วันนั้นมีให้เลือกไม่มากและไม่มีขนาดเท้าที่เหมาะสม เลยยังไม่ได้ตัดสินใจ
แล้วก่อนรายการกรุงเทพมาราธอน พาลูกชายไปซื้อ Brooks ได้รุ่น PureGait2 ซึ่งทราบทีหลังว่ามันเป็นรองเท้าวิ่ง trail (วิ่งตามสภาพภูมิประเทศ) แต่เมื่อสอบถามไปที่ Brooks Thailand ก็ได้รับการยืนยันว่าใช้วิ่งถนนธรรมดาก็ได้
Brooks PureGait2
ผมลองใส่ Brooks PureGait2 วิ่ง 5 กม. ก็นิ่มดี สวมสบาย (ผมไม่ได้ใส่ถุงเท้าตอนวิ่งทดสอบด้วยซ้ำไป)
แล้วสุดท้าย ก็ได้ไปลอง Brooks PureFlow2 ที่ Super Sports เซนทรัล ปิ่นเกล้า เหลือไซส์ 12 อีกคู่นึงพอดี ตอนที่ไปซื้อ PureGait2 ก็ได้ลองคู่นี้ แต่ลูกชายไม่ชอบ (แต่พ่อชอบ 555)
ทดสอบภาคสนาม
ในการทดสอบการใช้งานครั้งนี้ ผมตั้งใจว่าจะใส่วิ่งหลายๆ รายการก่อน รวมทั้งการซ้อมเก็บระยะเพื่อเตรียมตัวสำหรับจอมบึงมาราธอนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งอากาศและความถี่ในการฝึกซ้อม
วิ่งซ้อม 20.3 กม. สวนลุมพินี
เปิดประเดิมการทดสอบด้วยระยะ 20.3 กม. เช้าวันอาทิย์ที่ 1 ธันวาคม สวนลุมพินี อากาศเย็นสบาย ระยะ 10 กม. แรกวิ่ง pace เฉลี่ย 7 กับลูกชาย เป็นทั้งโค๊ชคอยแนะนำการวิ่ง และสังเกตุความรู้สึกตัวเองกับการสวมใส่ใช้งานจริง และในอีก 10 กม. ที่เหลือ กับการวิ่งเร่งฝีเท้าขึ้นอีกนิด เพื่อปรับความเร็วเฉลี่ยโดยรวม และจบที่ pace 6:28 นาที ต่อกิโลเมตร
นั่งพักหลังวอร์มดาวน์และยืดเหยียด
จากประสบการณ์การใช้งานรองเท้าวิ่งมาแล้ว 2 คู่ คือ Nike Structure 15 ที่ค่อนข้างเล็กทำให้นิ้วไปชนกับหัวรองเท้า และ Asics Gel Kayano 19 ที่มีเจลรองรับการกระแทกที่พื้น โดยเฉพาะที่บริเวณส้น และมีส่วนหน้าเท้ากว้าง ทำให้เห็นความแตกต่างของรองเท้า 3 คู่นี้ได้อย่างชัดเจน
คงไม่ต้องพูดถึงสองคู่แรกแล้วเพราะเคยเขียนไว้ในตอน รองเท้าวิ่งคู่ใหม่ ... Asics Gel-Kayano 19 แล้ว
ผมพบว่า แม้รองเท้าคู่นี้จะไม่มีส่วนของหน้าเท้ากว้างเหมือนกับ Asics แต่ทรงที่ดูเพรียวกว่าของ Brooks PureFlow 2 คู่นี้ก็ไม่สร้างปัญหาเรื่องการบีบหน้าเท้า หรือนิ้วเท้าแต่อย่างใด ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดกับผม ที่ระยะเกิน 10 กม. ขึ้นไป เพราะนิ้วเท้าเราหรือขนาดเท้าเราจะขยายตัวมากขึ้นจากการลงเท้า ในขณะที่บริเวณกลางเท้า รับรู้ได้ว่ามีความกระชับดี ซึ่งในตอนแรกรู้สึกเหมือนกับว่าจะสร้างปัญหาการบีบรัดมาเกินไปหรือไม่ แต่พอวิ่งจบก็สบายเท้าดี
Brooks PureProject ทุกคู่ ถูกออกแบบมาให้มีแถบสายอีลาสติกที่จะทำหน้าที่รัดกระชับเท้าให้เข้ากับทรงรองเท้า แต่จากที่เคยอ่านรีวิวรองเท้าซีรีย์นี้ของนักวิ่งต่างประเทศ ก็เหมือนกับว่าไม่แตกต่างกัน แม้จะตัดเอาแถบอีลาสติกนี้ออกไป
แถบอีลาสติกตรงช่วงกลางเท้า
ส่วนตำแหน่งฝ่าเท้า ซึ่งมีผลมากกับการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับเรา (อ่านย้อนที่ตอน รองเท้า...กับการวิ่ง) ก็ไม่รู้สึกว่ามีการกดทับตลอดเวลา แต่ให้ความรู้สึกกระชับพอดี
สีส้มสะท้อนแสง สะใจดีจริงๆ
การทดสอบครั้งที่ 2 ผมวิ่งซ้อมระยะ 10 กม. ที่สวนลุมพินี เช้าวันอังคารที่ 3 ธันวาคม ซึ่งเป็นเช้าวันอากาศดีมากๆ เลยคิดว่าจะลองเพิ่มสปีดการวิ่งดู
ผมวิ่งจบ 10 กม. ด้วย pace เฉลี่ย 5:39 ซึ่งสำหรับตัวผมเองถือว่าเร็วเกือบจะที่สุดที่สามารถประคองความเร็วได้แล้ว (สำหรับระยะทาง 10 กม.) การวอวร์มอัพยืดเหยียดที่คิดว่าดีพอ (ราวๆ 15 นาที) และการลงเท้าแบบ mid foot (กลางฝ่าเท้า) แทนการลงส้นเหมือนหลายๆ เดือนที่ผ่านมา ทำให้การวิ่งเช้าวันนั้นสนุกมาก เพราะรองเท้าคู่นี้มีน้ำหนักเบากว่า Asics Gel Kayano 19 อยู่เล็กน้อย และมีความกระชับมากกว่า (ถึงแม้จะเป็นไซส์ 12 เหมือนกัน แต่ Brooks PureFlow 2 คู่นี้จะเล็กกว่า ทำให้กระชับรูปเท้ามากกว่า)
การทดสอบครั้งที่ 3 ระยะทาง 11 กม. รายการ Run for the King เริ่มต้นที่สวนลุม วิ่งออกข้างนอกไปตามถนนวิทยุ เลี้ยวซ้ายเข้าเพลินจิต แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำริ ตรงเข้าสีลมก่อนไปเลี้ยวซ้ายที่ถนนมเหศักดิ์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาทรเหนือ วิ่งกลับมาที่สวนลุมพินี เป็นการวิ่งทดสอบบนถนนครั้งแรกของรองเท้าคู่นี้ ด้วย pace เฉลี่ย 6:24 ช่วงกม. สุดท้ายเร่งสปีดตามลูกชายด้วย pace 5:12 - 5:30 รู้สึกว่าการลงเท้าแบบ midfoot กับรองเท้าคู่นี้มันสนุกดีเหมือนกัน
Brooks ของพ่อกะลูก
และกับการทดสอบอีกครั้งก่อนจะจบบันทึกนี้ ผมวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอน รายการ "ฮาล์ฟมาราธอนครั้งที่ 3 - เพื่อน้องเพื่อการศึกษา" (ร้านครัวพ่อกำนันซีฟู๊ต บางขุนเทียน) ระยะทาง 22.5 กม. ถือว่าไกลเอาเรื่องเลย เพราะไม่เคยวิ่งระยะนี้มาก่อน (ไกลกว่าฮาล์ฟมาราธอน อีก 1.4 กม.)
เข้าเส้นชัย งาน 3rd Half Marathon ครัวพ่อกำนันซีฟู๊ด
อากาศตอนเช้าที่เย็นสบาย ภูมิประเทศโล่งตา ทำให้วันนี้วิ่งดีมาก จบรายการด้วยเวลา 2:08:33 ชั่วโมง (pace เฉลี่ย 5:43) และสามารถวิ่งฮาล์ฟมาราธอนใช้เวลา 1:59:26 ชั่วโมง
แต่ที่รู้สึกได้ตั้งแต่ช่วง กม. ที่ 18 คือ เหมือนกับว่าฝ่าเท้าขยายเพราะการวิ่งระยะไกล และฝ่าเท้ารู้สึกได้ถึงขอบแผ่นรองรองเท้าทั้งด้านนิ้วโป้งและนิ้วก้อย แต่ไม่มีการบีบที่ปลายเท้า หรือการกดรัดที่กลางฝ่าเท้า
บทสรุป
สำหรับการทดสอบระยะรวม 64 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 8 วัน ทำให้คุ้นกับรองเท้าคู่นี้ดีในระดับหนึ่ง รวมทั้งการปรับวิธีการวิ่ง เพื่อลงเท้าแบบ mid foot ทำให้ลดแรงกระแทกไปยังส่วนข้อต่อต่างๆ (เข่า สะโพก และอื่นๆ) จากการลงเท้าแบบ heel strike
คิดว่าได้รองเท้าที่สีสัน และการออกแบบถูกใจมาก ขนาดที่เหมาะกับความกว้างและความยาวเท้า (Asics Gel Kayano 19 ไซส์ 12 มีพื้นที่เหลือที่ปลายนิ้วเท้ามากกว่า Brooks เยอะเหมือนกัน)
คงต้องลองวิ่งระยะไกล (ฮาล์ฟ มาราธอน หรือไกลกว่านั้น) อีกเพื่อดูว่าจะรู้สึกว่าเท้าขยายจนรู้สึกอย่างที่บอกไปแล้วอีกหรือเปล่า แต่ถ้าระยะมินิมาราธอนหรือน้อยกว่านั้น หรือแม้กระทั่ง 15 กิโลเมตร คงจะใส่วิ่งอย่างสบายๆ
ถ้าใครสนใจลองไปแวะลองดูครับ บางทีอาจจะได้รองเท้าดีๆ อีกสักคู่กลับบ้านก็ได้ อ่อ.. แล้วตามสถิติ เค้าบอกว่า การที่เรามีรองเท้าวิ่งต่างๆ กันหลายคู่ จะช่วยลดโอกาสการเกิดการบาดเจ็บเนื่องจากรองเท้าที่ไม่พอดี ไม่เหมาะสม ได้ถึงเกือบ 40%
แต่ถ้าจะมีรองเท้าเป็นโหล แบบนั้นก็คงเยอะไปแล้วล่ะ ^^